วันนี้ (14 ธ.ค.2566) พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง จาก 02.00 น. เป็น 04.00น. ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ในเรื่องของการท่องเที่ยว
แต่ในเรื่องของความปลอดภัย เรื่องการป้องกันเรื่องเดือดร้อนรำคาญ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับไว้แล้ว โดยพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) เตรียมลงพื้นที่ตรวจสถานบันเทิงในย่านถนนข้าวสาร เพื่อดูความพร้อม และมาตรการความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ
หลังพบข้อความที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ว่า “15 ธ.ค.นี้เจอกันที่ถนนข้าวสาร ” ที่มีการคาดว่า จะมีการนักท่องเที่ยวไปใช้บริการในย่านดังกล่าวมากถึง 30,000 คน และมีเงินสะพัดกว่า 50 ล้านบาท
งัดพ.ร.บ.สาธารณสุขคุมเสียงดังเกิน 90 เดซิเบล
พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกฎหมายที่นำมาบังคับใช้นั้น เรื่องสถานที่เวลา และความปลอดภัย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกทม.ใช้ได้เพียง การดูแลเรื่องกิจการอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแลเรื่องการก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยจะใช้เกณฑ์เรื่องเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมาย โดยให้อำนาจสำนักอนามัย กทม.ในการเอาผิดสถานประกอบการเปิดเสียงเกินมาตรฐาน 90 เดซิเบล พร้อมประสานสำนักงานเขต และตำรวจในพื้นที่
กทม.ไม่สามารถควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ได้ หารขอใบอนุญาตสถานบริการ เป็นอำนาจของตำรวจนครบาล
ซึ่งปัจจุบันพื้นที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ได้แก่ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ ห้วยขวาง-รัชดา ย่านพัฒนพงษ์ แต่ก็มีนอกพื้นที่โซนนิ่ง บางแห่งที่ได้รับการอนุญาต
ใช้ AI ดักจับเสียงดังส่งถึงสนง.เขต-สถานีตร.
ทั้งนี้ยังรวมไปถึงโรงแรมชั้น 1 ที่มีการเปิดสถานบริการ ซึ่งในส่วนพื้นที่ ที่มีการขออนุญาต ทางกทม.ไม่ได้รู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลมาก เนื่องจากเชื่อว่ามีวัสดุซับเสียงป้องกันในระดับหนึ่ง
สำหรับการตรวจจับจะใช้เทคโนโลยีหรือ AI เข้ามา โดยนำเครื่องตรวจจับวัดเสียงติดตั้งในสถานบันเทิง หากเกินกว่าที่กำหนด สัญญาณนั้นจะไปดังที่สำนักงานเขต และที่สถานีตำรวจทันที
หรือกรณีที่ไม่มีสามารถตรวจจับวัดเสียงได้ แต่มีประชาชนร้องเรียน ก็จะนำเรื่องร้องเรียนนี้ไปตรวจสอบ โดยเอาเครื่องไปวัดยังบ้านประชาชนที่ร้องเรียนมาว่าได้ยินเสียงดัง จนเป็นการรบกวน นอกจากนี้ทางกทม. ยังจะไปให้คำแนะนำเรื่องของการจัดทำทางหนีไฟกับสถานบันเทิงด้วย
พื้นที่นอกโซนนิ่ง ใช้คำสั่ง คสช.
พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า สำหรับข้อกฎหมายที่กทม.จะนำมาใช้กับสถานบันเทิงที่ไม่ได้มีใบอนุญาตเดิม แต่ก่อความเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง จะใช้คำสั่ง คสช.22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ให้อำนาจปิดสถานบันเทิง
ส่วนเรื่องพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว กทม.ไม่มีอำนาจเข้าไปดูแล ได้แต่ให้คำแนะนำกับทางตำรวจนครบาลไปว่า ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการ ประสานกับทางผู้ประกอบการ เชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ภายในร้านกับ สน.ในพื้นที่ แต่ต้องให้กล้องตรวจจับพฤติกรรมแทน
การนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าตามร้านหรือ ท้องถนนในการตั้งด่าน ซึ่งเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก และอาจกระทบกับการตรวจตราเหตุอาชญากรรม
ทางด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการดำเนินการตรวจตราป้องกันระงับเหตุจากกรณีการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง ได้ให้อำนาจคณะกรรมการจังหวัดในการตรวจสอบ
โดยแต่ละจังหวัดจะออกเป็นแนวทางปฏิบัติ ตามอำนาจของกระทรวงมหาดไทย มีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจนครบาล รับผิดชอบ
ส่วนการประสานผู้ประกอบการช่วยป้องปรามไม่ให้นักดื่ม ขับรถหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการตรวจวัด การประสานรถสาธารณะ ยังเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นอำนาจของแต่ละท้องถิ่นในการจัดการ เบื้องต้น จ.เชียงใหม่หารือกันเรื่องเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดปิดสถานบันเทิงในเวลา 04.00 น.
อ่านข่าวอื่นๆ
4 เดือนหลังเป็นนายกฯ “เศรษฐา” ไปประเทศไหนมาแล้วบ้าง
กลับมาแล้ว! E-ticket เริ่มใช้ 15 ธ.ค.นี้ใน 6 อุทยานรับปีใหม่
ทุจริตคอร์รัปชันไทยดิ่ง ! อันดับ 101 โลก " อันดับ 4 ของอาเซียน "