วันนี้ (18 ธ.ค.2566) ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ประชุมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ
ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินครูก้อนใหญ่ที่สุดของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ สพฐ.จึงได้มอบหมายให้ สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน สีแดง ,สีเหลือง และ สีเขียว และมีมาตรการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม และให้มีการติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิดทุกเดือน
โดยแบ่งเป็นกลุ่มสีแดง หรือ กลุ่มวิกฤต คือ ผู้ที่เหลือเงินเดือนไม่ถึงร้อยละ 30 หลังจากหักการชำระหนี้ และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ขอให้ทุกเขตพื้นที่ เร่งช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการดำเนินการทางกฎหมายและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ต่อไป
ส่วนกลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง ร้อยละ 30 มีแนวโน้มจะเป็นหนี้วิกฤต ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคุมยอดหนี้ และกลุ่มสีเขียว คือกลุ่มครูที่มีหนี้เล็กน้อย ถึงไม่มีหนี้สิน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ผลการหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย 15 ธ.คที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาความซับซ้อนของหนี้ข้าราชการครู จำนวน 900,000 คน มูลค่าหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้กำหนดให้ครู มีเงินเหลือ เพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน
และภายในเดือนมกราคม 2567 จะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ชัดเจน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย/ปรับจำนวนงวดให้ยาวขึ้น ไม่เกินอายุ 75 ปี และใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอีก 7 คณะ เพื่อให้ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ
อ่านข่าวอื่นๆ
“รัฐบาลเศรษฐา” เปิดผลงาน 3 เดือน “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” รอดูดอกผลปีหน้า
“คลินิกสุจริต” โมเดลตัดทุจริตที่ต้นทาง ป.ป.ช.ขอนแก่น
"กำนันนก-23 ตร."ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นัดตรวจหลักฐาน 22 ม.ค.67