วันนี้ (19 ธ.ค.2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ 3 มาตรการของกระทรวงการคลัง ดังนี้
- มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19
- มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ
ทั้งนี้ มีการขออนุมัติวงเงินงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 4,900 ล้านบาท โดยแยกเป็นการช่วยเหลือSMEs จำนวน 400 ล้านบาท และช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 4,500 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจคือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลาง (บสย.) โดยเป็นการสำรองเงินของสถาบันไปก่อน และตั้งงบประมาณมาชำระคืนจากสำนักงบประมาณ
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกรัฐวิสาหกิจออกระเบียบเพื่อให้พนักงานมีเงินเหลือ 30% ของเงินเดือน โดยให้ประสานกับสถาบันทางการเงินเอกชนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสหกรณ์ออมทรัพย์จะต้องให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเหมาะสม โดยเฉพาะโครงการสวัสดิการต่างๆ การชำระค่างวดที่เหมาะสม การใช้เงินทุนเงินหุ้นที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย โดยนายกฯ ไม่อยากให้เกิดการใช้หนี้แทนและรัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้หนี้แทน แต่เป็นการต้องการแบ่งเบาเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ต่อ
อ่านข่าวอื่นๆ
เช็ก 10 มาตรการแก้หนี้ในระบบ ช่วยใครบ้าง-ช่วยอย่างไร
ของขวัญปีใหม่ ครม.ตรึงค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมันดีเซล 3 เดือน
โอนแล้ว! ไร่ละ1,000 รอบ 2 กว่า 6 พันล้าน ยิงตรงเข้าบัญชีชาวนา