กรมชลฯเตือนประชาชนเตรียมรับมือน้ำท่วม หลังเขื่อนหลายแห่งใกล้เต็มความจุ
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ส่งผลให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นทั่วทุกภาค ซึ่งในปีนี้มีปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนมาก อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศจึงมีปริมาตรน้ำในอ่างมากกกว่าร้อยละ 80 ถึง 13 แห่ง
อย่างที่เขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 11,089 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ ขณะที่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างวันละประมาณ 102 ล้านลูกบาศก์เมตรและมีการระบายน้ำที่วันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้อีก 2,373 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ อีกประมาณ 33 วัน
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 9,048 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 95 ของ ความจุอ่างฯ / โดยมีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 91.22 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำอยู่ที่ 65.16 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะ สามารถรับน้ำได้อีก 462 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ อีกประมาณ 20 วัน
ดังนั้นหลังจากนี้กรมชลประทานจึงต้องใช้วิธีปล่อยให้น้ำล้นออกมาโดยอัตโนมัติไปจนกว่าจะหมดฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่กลางเดือนตุลาคม และจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่าน เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน่าน ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมือง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าฝนที่ตกซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล และ ปริมาณฝนที่ตกในหลายพื้นที่ภาคเหนือ จะส่งผลให้แม่น้ำหลายสายมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น อย่างที่ลุ่มแม่น้ำยม ที่อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
รวมถึงน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งทั้งหมดจะไหลมาสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณวันที่ 15 กันยายนนี้ ทำให้พื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมต่อไป คือ ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะได้ผลกระทบจากการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มขึ้นอีกวันละ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีภายใน 2-3 วันนี้ นอกเหนืออำเภอเมืองที่กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลล้นอ่างเก็บน้ำซับเหล็กในขณะนี้