จากการนำข้อมูลการบินโฉบน้ำพุที่พวยพุ่งขึ้นมาจากดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ของยานแคสสินี (Cassini) มาวิเคราะห์ใหม่ นักวิทยาศาสตร์พบ “สารไฮโดรเจนไซยาไนด์” (Hydrogen cyanide: HCN) หนึ่งในสารประกอบสำคัญที่มีส่วนช่วยสร้างกรดอะมิโนให้กับสิ่งมีชีวิต นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญของการพิสูจน์ถึงความอุดมสมบูรณ์และซึ่งเอื้อต่อชีวิตของระบบดวงจันทร์ภายในระบบสุริยะของเรา
เราเพิ่งทราบว่าดวงจันทร์น้ำแข็งนั้น สามารถมีน้ำพุพวยพุ่งออกมาจากชั้นน้ำแข็งหน้าของดวงจันทร์เหล่านั้นได้ไม่ถึง 20 ปี จากการบินโฉบดวงจันทร์เอนเซลาดัส หนึ่งในดวงจันทร์ภายในระบบดวงจันทร์ของดาวเสาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังงานความร้อนภายใต้ชั้นน้ำแข็งที่มีมากพอที่จะสร้างความร้อนมหาศาลจนเกิดเป็นชั้นน้ำภายใต้ผืนน้ำแข็งหนายักษ์ และทำให้เราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์น้ำแข็งที่เย็นชืด สู่การตามหาชีวิตใต้ผืนน้ำแข็ง
หนึ่งในแนวคิดการตามหาสิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากโลก คือการตามหาดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวเคราะห์ เนื่องจากดวงจันทร์น้ำแข็งมักจะถูกแรงไทดัล (Tidal force) ของดาวเคราะห์ยักษ์กระทำอย่างรุนแรง ผลจากการดึงกระชากของผืนน้ำแข็งกับแก่นของดาวที่เป็นหิน จะทำให้เกิดความร้อนที่สูงพอจะสร้างชั้นน้ำขนาดใหญ่ใต้ผืนน้ำแข็งที่หนาของดวงจันทร์เหล่านั้นได้ น้ำในสถานะของเหลวใต้ผืนน้ำแข็งขนาดใหญ่ดูเหมือนจะเป็นแหล่งอนุบาลอีกหนึ่งแหล่งที่น่าสนใจสำหรับชีวิต ซึ่งเราสามารถพบชีวิตที่อยู่ในน้ำใต้ผืนน้ำแข็งเหล่านี้ได้
ใต้ผืนน้ำแข็งของแอนตาร์กติกา บรรดาสิ่งมีชีวิตได้สร้างระบบนิเวศเฉพาะตัวขึ้นมาเนื่องจากพวกมันได้ถูกแยกออกจากโลกภายนอกเป็นระยะเวลานานหลายล้านปี มีจำนวนสปีชีส์ที่น้อยแต่ก็สามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงเผ่าพันธุ์ได้ จากตัวอย่างที่พบได้บนโลก เราจึงตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า หากบนโลกของเรายังสามารถพบชีวิตได้ทุกที่ ดังนั้นบนดวงจันทร์น้ำแข็งอย่างเอนเซลาดัสก็ย่อมที่จะมีศักยภาพมากพอสำหรับสิ่งมีชีวิตด้วยเช่นกัน
แนวคิดตั้งต้นเกี่ยวกับโอกาสที่จะได้พบสิ่งมีชีวิตใต้ผืนน้ำแข็งของดวงจันทร์เอนเซลาดัส นั้นมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากยานแคสสินีในช่วงแรก นักวิทยาศาสตร์พบว่าภายในน้ำพุของเอนเซลาดัสประกอบไปด้วยสารประกอบต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นคือมีเทน
การพบมีเทนภายในน้ำพุแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมบางอย่างใต้มหาสมุทรที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนขึ้นมาได้มากพอที่ยานแคสสินีซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นผิวถึง 49 กิโลเมตรสามารถบันทึกข้อมูลได้ ซึ่งในปัจจุบันแหล่งกำเนิดของมีเทนในธรรมชาติที่มนุษย์รู้จัก มาจากแหล่งเดียวคือกระบวนการย่อยอาหารของสิ่งมีชีวิต การที่ภายในน้ำพุของเอนเซลาดัสพบก๊าซมีเทนปะปนอยู่ จึงอาจจะเป็นหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือเป็นการบ่งชี้ถึงกระบวนการทางธรณีรูปแบบใหม่ที่เราไม่เคยทราบมาก่อน
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อ 14 ธันวาคม 2566 มีการกล่าวถึงการพบสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ภายในน้ำพุที่พวยพุ่งออกมาจากพื้นผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์เอนเซลาดัส ซึ่งก่อนหน้านี้เราพบทั้งออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทนเจือปนออกมาพร้อมกับน้ำพุที่พวยพุ่งไปแล้ว การพบไฮโดรเจนไซยาไนด์ภายในน้ำพุยิ่งเป็นเครื่องมือที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งพลังงานเคมีสำหรับสิ่งมีชีวิตมากขึ้นกว่าที่เราคาดคิดไว้แต่แรกเสียอีก
ในงานวิจัยใหม่นี้นำข้อมูลการบินโฉบของยานแคสสินีเดิมที่มีตั้งแต่ช่วงหลายปีก่อน มาวิเคราะห์ผลใหม่ทั้งหมดผ่านกระบวนการทางสถิติ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เก่าและผู้วิจัยอาจจะวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดอันเกิดจากอคติ พวกเขาจึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างระมัดระวัง หลังจากวิเคราะห์เสร็จสิ้น คณะนักวิจัยพบว่าในน้ำพุที่พวยพุ่งขึ้นมาของดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นมีการเจือปนของสารไฮโดรเจนไซยาไนด์อยู่
การมีอยู่ของไฮโดรเจนไซยาไนด์ หมายถึงภายในมหาสมุทรใต้ผืนน้ำแข็งของดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีกรดอะมิโน และนั่นอาจหมายถึงการมีอยู่ของชีวิตใต้มหาสมุทรนั้นก็เป็นได้ เนื่องจากไฮโดรเจนไซยาไนด์สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดกรดอะมิโนได้หลายชนิด
การพบสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ไม่ได้หมายถึงโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทรของดวงจันทร์เอนเซลาดัสเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงขนาดของแหล่งพลังงานใต้มหาสมุทรนั้นใหญ่กว่าที่พวกเราคาดคิดไว้อย่างมาก เนื่องจากหากใต้สมุทรของดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริง แหล่งพลังงานหลักของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะต้องไม่ใช่ดวงอาทิตย์เหมือนอย่างโลก แต่คือพลังงานเคมีที่พวยพุ่งมาจากแก่นของดวงจันทร์ คล้ายกับสิ่งมีชีวิตบริเวณปากปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลลึก ซึ่งอาศัยแหล่งพลังงานเคมีจากลาวาที่พวยพุ่งออกมา
การพบไฮโดรเจนไซยาไนด์ควบคู่กับมีเทนภายในน้ำพุที่พวยพุ่งของดวงจันทร์เอนเซลาดัส นั้นอาจหมายถึงสภาพแวดล้อมใต้สมุทรของดวงจันทร์ดวงนี้อาจมีแหล่งพลังงานเคมี สำหรับสิ่งมีชีวิตจำนวนมากและอาจหมายถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทรของดวงจันทร์ดวงนี้ และอีกความหมายหนึ่งคือความสำคัญของการนำข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์โดยอาศัยวิธีการใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ผล ซึ่งอาจจะนำพามาสู่ความรู้ใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีใครทราบมาก่อน
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech