ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระบบ “ทะเบียนเครื่องบิน” ทำงานอย่างไร ?

Logo Thai PBS
ระบบ “ทะเบียนเครื่องบิน” ทำงานอย่างไร ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครื่องบินทุกลำ จำเป็นต้องมีระบบการจดทะเบียน การอ่านทะเบียนเบื้องต้นจะสามารถบอกประเทศ สายการบิน หรือแม้กระทั่งความเก่าใหม่ของเครื่องบินในเบื้องต้นได้

ปัจจุบัน “การเดินทางทางอากาศ” นับว่าเป็นหนึ่งในการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย และได้รับความนิยมมากที่สุดประเภทหนึ่งของโลก สถิติจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (FAA) ระบุว่า มีจำนวนของเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัวในสหรัฐที่จดทะเบียนอยู่มากกว่า 220,000 ลำ ไม่รวมเครื่องบินของกองทัพฯ หรือหากมองประเทศไทยของเรา เฉพาะการบินไทย มีจำนวนของเครื่องบินให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 66 ลำ และหากรวมจำนวนเครื่องบินทั่วโลก ตัวเลขของจำนวนเครื่องบินทั้งหมดอาจแตะอยู่ถึงหลักหลายแสนลำ

แต่ทราบหรือไม่ เครื่องบินแต่ละลำมีทะเบียนเช่นเดียวกับรถยนต์ และทะเบียนของเครื่องบินก็สามารถบอกประเทศ หรืออาจลงรายละเอียดถึงรุ่น สายการบิน ตลอดจนถึงอายุของเครื่องบินลำนั้นได้

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนยานพาหนะต่าง ๆ มีจุดเริ่มต้นคล้ายกัน กล่าวคือ พาหนะนั้น ๆ ได้รับความนิยมจนต้องมีหน่วยงานกลางออกเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อให้มาตรฐานการขึ้นทะเบียนเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือน (Civil Aviation) นั้น มีหน่วยงานที่ชื่อว่า CAA หรือ Civil Aviation Authority ได้ออกอนุสัญญาที่ชื่อว่า Chicago Convention ขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นมาตรฐานการจดทะเบียนเครื่องบินที่ใช้สำหรับพลเรือน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944

อย่างไรก็ตาม Chicago Convention ไม่ใช่อนุสัญญาแรกที่พูดถึงมาตรฐานทะเบียนเครื่องบิน แต่มีผลและได้รับอิทธิพลมาจากอนุสัญญาอื่น ๆ เช่นอนุสัญญาปารีส (Paris Convention) ปี ค.ศ. 1919 และได้รับการพัฒนาต่อกันมาเรื่อย ๆ

มาตรฐานที่ใช้กันก็คือ ตัวอักษรหรือตัวเลขชุดแรก จะบ่งบอกว่าประเทศที่เครื่องบินลำนั้นจดทะเบียน เป็นประเทศอะไร เช่น สหรัฐอเมริกา ขึ้นต้นด้วย N ญี่ปุ่นจะขึ้นต้นด้วย JA อังกฤษขึ้นต้นด้วย G หรืออาจมีการนำตัวเลขมาใช้ เช่น สิงคโปร์ขึ้นต้นด้วย 9V

และหน่วยงานด้านการบินพลเรือนในประเทศนั้น ๆ จะได้รับสิทธิ์ในการกำหนดมาตรฐานการลำดับตัวเลขและตัวอักษรเพื่อจดทะเบียนกับ CAA ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการแตกต่างกันออกไป เช่น ในประเทศไทยของเรา จะแบ่งตามสายการบิน ตามด้วยประเภทของเครื่องบิน และลำดับการจดทะเบียนของเครื่องบินลำนั้น ๆ

เช่น เครื่องบินทะเบียน HS-TQA ของการบินไทย จะมีความหมายว่า “HS” เป็นเครื่องบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย “T” มีความหมายว่าเป็นเครื่องบินของการบินไทย “Q” มีความหมายว่าเป็นเครื่องบินรุ่นโบอิง 787 และ “A” แสดงลำดับการจดทะเบียนของเครื่องบินลำนั้น ๆ เช่น HS-TQB เป็นเครื่องบินที่ได้รับการจดทะเบียนต่อจาก HS-TQA

นอกจากนี้ธงที่เราสังเกตเห็นบนตัวเครื่องบินก็จะสอดคล้องกับตัวเลขหรือตัวอักษรชุดแรกตามมาตรฐานการจดทะเบียนด้วย เช่น หากเห็นธงของอังกฤษ เราจะเห็นหมายเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย G นั่นเอง ส่วนทั้งธงและตัวอักษรจะถูกเขียนอยู่ตรงไหน จะขึ้นอยู่กับการออกแบบของสายการบินแต่ละเจ้า แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

ข้อควรรู้อีกอย่างก็คือ ทะเบียนเหล่านี้ยังสามารถใช้อ้างอิงในภาพถ่ายได้ด้วยเช่นกัน เช่น หากเราต้องการหาภาพของเครื่องบินทะเบียน HS-TBA เราสามารถค้นหาทะเบียนดังกล่าวได้ในเว็บไซต์กูเกิล แล้วจะพบกับภาพเครื่องบินที่ถูกถ่ายโดยผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเครื่องบิน (Plane Spotter) จากทั่วโลกได้ หรือแม้กระทั่งหาว่าเครื่องบินลำดังกล่าว กำลังบินอยู่ในบริเวณใดของโลก ในเที่ยวบินไหน เวลาเท่าไร ผ่านเว็บไซต์อย่าง Flight Radar 24 ได้เช่นกัน

ประโยชน์ของการทราบข้อมูลดังกล่าว นอกจากจะทำให้เราอ่านทะเบียนเครื่องบินเป็นแล้ว ก็จะช่วยให้การนั่งเครื่องบินของเราสนุกสนานยิ่งขึ้น หรือได้ทราบข้อมูลที่คนอื่นไม่ทราบ เช่น การนำทะเบียนของเครื่องบินที่เรานั่งไปค้นหาว่ามีอายุเท่าไร เข้าประจำการตั้งแต่ปีใด เป็นต้น

ที่มาข้อมูล: FAA, thaiairways

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง