วันนี้ (25 ธ.ค.2566) ศาลรัฐธรรมนูญ เชิญ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน มาไต่สวนในฐานะพยาน คดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล
ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
หลังการชี้แจง นายพิธาออกมาบอกว่า การไต่สวนเป็นไปด้วยความราบรื่น และพอใจในการแถลงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายในการชี้แจงทั้ง 2 คดี ที่มั่นใจในข้อเท็จจริงหลายเรื่อง
ยืนยันว่า เป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ได้มีเจตนาหรือการกระทำใดที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง
ไม่ว่าผลวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็ยังจะทำงานกับพรรคก้าวไกลต่อไป ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากผลวินิจฉัยเป็นคุณก็จะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ สส. ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน
นายพิธาปฏิเสธที่จะประเมินว่า จะได้กลับมาทำหน้าที่ สส.กี่เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่บอกว่าพอใจกับการชี้แจง ซึ่งทำเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรต้องการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม โดยจะรอคำพิพากษาทั้ง 2 คำร้อง ในวันที่ 24 ม.ค. และวันที่ 31 ม.ค.2567
ย้อนกลับไปเมื่อวาน (24 ธ.ค.2566) “นิด้าโพล” ของ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หัวข้อ “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ปี 2566” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.2566 จากกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คน
เมื่อถามถึงบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจระบุว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน
อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 ระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
อันดับ 5 ร้อยละ 2.40 ระบุว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
อันดับ 6 ร้อยละ 1.70 ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล
อันดับ 7 ร้อยละ 1.65 ระบุว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุน
อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่า พรรคก้าวไกล
อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์
อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ
อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย
อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ
โพลนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.เมื่อวันที่ 19 ก.ค.หรือกว่า 5 เดือน ที่ผ่านมา แม้กระแส หรือความเคลื่อนไหวของนายพิธา และพรรคก้าวไกลจะลดลงไปบ้าง แต่ทว่าไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง
หรือไม่ถูกกลบบัง เหมือนที่ในสื่อสังคมออนไลน์พยายามฉายภาพว่า พรรคการเมืองขั้วอำนาจเดิม จับมือกับพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อต้องการบีบพรรคก้าวไกล ให้หลุดไปจากขั้วการเมืองไทย
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมา ที่น่าจับตามองก็คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคม ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน
บอร์ดชุดนี้จะเข้ามาดูแลสมาชิกที่เป็นสถานประกอบการกว่า 510,000 แห่ง และผู้ประกันตนกว่า 24.5 ล้านคน และบริหารกองทุนมูลค่าสูงกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่ผลของการเลือกตั้งที่ออกมา น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะส่วนของผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 7 คน ที่เป็นเสมือนภาพสะท้อนของพรรคก้าวไกล
นั่นคือ นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อายุ 38 ปี, นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน อายุ 41 ปี, 3.นายชลิต รัษฐปานะ อายุ 29 ปี 4.นายศิววงศ์ สุขทวี อายุ 45 ปี 5.น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ อายุ 30 ปี 6.นางลักษมี สุวรรณภักดี อายุ 54 ปี และ 7.นายปรารถนา โพธิ์ดี อายุ 40 ปี ทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า
เมื่อมองภาพเคลื่อนไหวของนายพิธา หรือพรรคก้าวไกล ในห้วงเวลานี้ อาจจะเห็นแผลใหม่เกิดขึ้นหลายแผล แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่า แรงศรัทธาของบรรดาผู้ติดตามก็ไม่ได้แผ่วลงไปเลย
คงต้องจับตาดูกันต่อไป ...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.ปัดเอื้อระเบียบราชทัณฑ์ปม "ทักษิณ" นอนรพ.ชี้ต้องให้ศาลสั่ง
"รวมไทยสร้างชาติ" แถลงจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่แตะ หมวด 1-2
"วิษณุ"ชี้ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่านวาระแรก รบ.ต้อง "ยุบสภา-ลาออก" เพื่อรับผิดชอบ