หลังจากที่ในปี 2022 นาซาประสบความสำเร็จในการทดสอบอาร์ทิมิส 1 เที่ยวบินแบบไร้มนุษย์โดยสารไปด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนก้าวแรกในการเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในรอบครึ่งศตวรรษ ตอนนี้นาซาอยู่ในช่วงเตรียมตัวสำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 2 ในรอบนี้ จะมีนักบินอวกาศ 4 คนเดินทางไปด้วย เพื่อทดสอบความพร้อมสำหรับอาร์ทิมิส 3 ที่จะเป็นการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์
ศูนย์อวกาศมาร์แชล ของนาซา ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบและดูแลตัวจรวด Space Launch System หรือ SLS ได้ออกมาแถลงความคืบหน้าของการประกอบชิ้นส่วนของ SLS และให้ข้อมูลว่ายังคงเป็นไปได้ตามแผน ไร้ปัญหา ในขณะที่ชิ้นส่วนจรวดเชื้อเพลิงแข็งสำหรับช่วงสร้างแรงส่ง (Solid Rocket Booster) ก็ได้เข้าสู่กระบวนการประกอบเป็นที่เรียบร้อย
SLS ลำที่จะถูกใช้ในภารกิจอาร์ทิมิส 2 นับว่าเป็นจรวด SLS หมายเลข 2 หลังจากที่หมายเลข 1 นั้นถูกใช้งานไปเรียบร้อย และเนื่องจากไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นำกลับมาใช้งานได้ นาซาจำเป็นต้องผลิตจรวดลำใหม่ทุกครั้งในแต่ละครั้งที่ใช้งาน ในโครงการอาร์ทิมิส นาซามีแผนผลิตและใช้งานจรวด SLS มากกว่า 10 ลำภายในปี 2030 โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์อวกาศต่าง ๆ ภายใต้การกำกับของนาซา
นอกจากนี้ยานอวกาศโอไรออน (Orion) และส่วนสนับสนุนตัวยานที่พัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป (European Service Module) ก็ได้เริ่มถูกนำมาทดสอบเพื่อใช้งานในภารกิจดังกล่าวแล้วเช่นกัน
หลังจากที่การสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว นาซาจะค่อย ๆ ขนส่งชิ้นส่วนจรวดด้วยเรือมายังฐานปล่อยที่ศูนย์อวกาศเคเนดี แหลมคะแนเวอรัล (Cape Canaveral) และประกอบในอาคารประกอบจรวด (Vehicle Assembly Building) ซึ่งจะเป็นการประกอบจรวดในขั้นตอนสุดท้ายก่อนทำการปล่อย
แม้นาซาจะยังไม่ได้ประกาศว่าภารกิจอาร์ทิมิส 2 จะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่การได้เห็นความพร้อมของทั้งตัวจรวด ยานอวกาศ และการฝึกซ้อมของนักบินอวกาศที่นาซาประกาศชื่อว่าจะเป็นนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่ได้เดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ในช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมานั้น ก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่อาร์ทิมิส 2 จะได้เกิดขึ้นภายในปี 2024 ตามที่วางแผนไว้จริง ๆ
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech