วันนี้ (8 ม.ค.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ข้อมูลจาก World Population 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16 %
กลุ่มผู้สูงอายุในไทยเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีอำนาจทางการเงิน และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว เป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและสุขภาพ
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้สูงอายุที่น่าสนใจออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค , ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะทางการเงิน และ ความต้องการสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จำเป็น
อธิบดีกรมพัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า เพื่อรองรับจำนวนผู้สงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของการทำธุรกิจเพื่อรองรับคนกลุุ่มดังกล่าว เช่น ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จ ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจบริการด้านเครื่องดื่ม ฯลฯ ที่อยู่อาศัย ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
รวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในที่พักอาศัย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่เหมาะสมตามกาลเทศะช่วงวัย ที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในช่วงสูงวัย
ธุรกิจความงาม
ธุรกิจที่เป็นโอกาสเช่น โรงพยาบาล คลินิกรักษาโรคทั่วไป เภสัชภัณฑ์และเคมีที่ใช้รักษาโรค ที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการการเงิน ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องหาช่องทาง รูปแบบการลงทุน หรือหลักประกันที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจกลุ่มผู้สูงอายุ
สำหรับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีแนวโน้มการจัดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 จัดตั้ง 10,676 ราย ปี 2565 จัดตั้ง 13,915 ราย และปี 2566 จัดตั้ง 16,913 ราย
นางอรมน กล่าวอีกว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของ Aging Society ในอนาคตส่งผลให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาส ในการทำธุรกิจจากความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและตลาดที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกมาตรการหรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต เข้มแข็ง และแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกประเทศทั่วทุกมุมโลกในอนาคตอันใกล้นี้
อ่านข่าวอื่นๆ:
"แพทองธาร" ดันภาพยนตร์ - ดนตรี สตาร์ทซอฟต์พาวเวอร์นัดแรก