วันนี้ (10 ม.ค.2567) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่มีจุด hotspot ซึ่งพบว่าหลายจังหวัดมีการเผาบริเวณนาข้าว เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี
เตรียมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้ช่วยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการระดับจังหวัดให้เข้าตรวจสอบ และระงับยับยั้งต้นตอจุดความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส.ได้ประกาศการเข้าสู่ช่วงฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ ต้องเตรียมการรับมือตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มข้นจริงจัง เพื่อให้ปัญหาและผลกระทบต่อประชาชนเบาบางลง
อ่านข่าว ครม.เคาะร่างกม.อากาศสะอาด โทษผิดทางแพ่ง-ปรับพินัย
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นโดยทั่วไปในภาคกลาง เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 ถึงมี.ค.2567 และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงสุดในเดือน ก.พ. 2567 จากนั้นจะรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ หากประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน และตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ก็จะช่วยให้สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี ดังนั้นขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกัน
อ่านข่าว 31 จังหวัดอ่วมฝุ่น PM 2.5 กทม.ฝุ่นพิษระดับสีแดง 3 พื้นที่
ขั้นตอนพ.ร.บ.อากาศสะอาด
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด และพรุ่งนี้ (11 ม.ค.) จะนำเข้าพิจารณาในสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตรา คาดว่าอาจต้องเวลาสักระยะหนึ่งในช่วง 6 เดือนขึ้นไปจะมีผลบังคับใช้
ยืนยันการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การดูแลปัญหาฝุ่น PM2.5 และปัญหาไฟป่า และการคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิดจะทำได้ดีขึ้น เพราะมีกฎหมายบังคับใช้ชัดเจน
อ่านข่าว 50 เขต กทม.ฝุ่น PM2.5 ระดับ "สีส้ม" มากสุดวังทองหลวง
พบ Hotspot เผาพื้นที่หลายจังหวัด
ขณะที่ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมควบคุมมลพิษ ม.เกษตรศาสตร์ และม.เชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 8.00 น. พบว่า 25 จังหวัดของประเทศ รวมทั้งกทม.มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสีแดง
ทั้งนี้จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 310 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตร 136 จุด ตามด้วยพื้นที่เขต ส.ป.ก. 72 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 47 จุด ชุมชนและอื่นๆ 38 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด
จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ลพบุรี 36 จุด กาฬสินธุ์ 18 จุด และ สุรินทร์ 17 จุด นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน มากสุดอยู่ที่กัมพูชา 1,516 จุด ตามด้วย พม่า 270 จุด เวียนดนาม 228 จุด และ ลาว 181 จุด