วันนี้ (11 ม.ค.2567) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะที่งานดูด้านเศรษฐกิจ ได้สอบถามวิกฤตเศรษฐกิจจะต้องหน้าตาเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอย่างไร ในที่ประชุม เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.2567)
แต่ละหน่วยงานก็ตอบคำถามกันทุกหน่วยงาน ยกเว้นสำนักงบประมาณ ซึ่งวิกฤตมีทั้งวิกฤตทางด้านการเงิน ที่มีเอ็นพีแอลสูง คนแห่ไปถอนเงิน วิกฤติภายนอกจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาการส่งออก นำเข้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หรือวิกฤตทางด้านแรงงาน คนตกงานจำนวนมาก วิกฤตการคลังคือเงินคงคลังลดต่ำเหลือน้อย
ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้แลกเปลี่ยนกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ และอาจจะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ที่จะต้องให้ความเห็นกับนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤติหรือไม่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับ กมธ. และเท่าที่ไล่ดู 5-6 วิกฤตินี้ ยังไม่มีอันไหน สามารถอธิบายเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันได้
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงแบบนี้ จะผ่านด่านการพิจารณาของ คณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตหรือไม่นั้น น.ส. ศิริกัญญากล่าวว่า ก็หินอยู่ ก็ไม่รู้ว่าต้องไปค้นวิกฤติใหม่ใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เพื่อทำให้เกิดวิกฤตจริง ๆ
ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยไม่สู้ดีจริง ๆ โตต่ำจริง ๆ และต้องการสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ที่ต้องตีความว่ามันเกิดวิกฤติ จึงสามารถกู้ได้ ก็เลยเป็นอุปสรรค ที่สำคัญคือมันจะเป็นบรรทัดฐานด้วย ถ้าร่างพระราชบัญญัตินี้สามารถผ่านได้ ต่อจากนี้ไปรัฐบาลก็ไม่ต้องแคร์งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว บอกแค่ประเทศต้องการการกู้เงิน ก็สามารถทำได้เลย แบบนี้ก็จะทำให้เป็นมาตรฐานที่ไม่ดีในอนาคต
ส่วนกรณีที่ฝั่งรัฐบาล ให้ไปไล่ดูตลาดว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี การจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ฝืดไปหมด และต้องการการเข้าไปแก้ไขปัญหาของรัฐบาลโดยเร่งด่วน โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนพฤษภาคม ถ้าวันนี้ตลาดมันเงียบ มันฝืด ค้าขายลำบาก ก็ให้รัฐบาลเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนพฤษภาคม แล้วค่อยไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน
ส่วนถ้า พ.ร.บ.กู้เงินผ่านสภาแล้ว ฝ่ายค้านจะมีมติเป็นอย่างไร น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียดก่อนว่า หน้าตาร่างฯ จะเป็นอย่างไร ในเชิงหลักการจะต้องตีความตามกฎหมาย ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฤษฎีกาได้ตีความหรือไม่ แต่ความเร่งด่วนทางเศรษฐกิจตอนนี้เรายังไม่เห็น เราก็คงจะต้องโหวตไม่รับร่างฯ ไปก่อน
อย่างไรก็ตามต้องดูเนื้อหาประกอบ ส่วนจะทันในเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ก็คงต้องช่วยกันลุ้น ซึ่งวันนี้วันที่ 11 ม.ค. แต่ก็ยังไม่มีการนัดประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่เลย และยังต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้ามายังสภา ซึ่งประเมินว่า ก็คงจะผ่านสภา เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่ก็ยังมีด่าน สว.ที่อาจจะล่าช้าได้อีก
ถ้าไม่รับหลักการก็ต้องตีกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะเห็นชอบร่างฯนี้หรือไม่ ยังไม่รวมอีกหลายหน่วยงานที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือนักร้องเจ้าประจำต่าง ๆ ดังนั้นต้องช่วยกันลุ้นว่าจะทันเดือนพฤษภาคมหรือไม่
อ่านข่าวอื่นๆ
DSI กล่าวหา "2 อดีต รมต.-2 ขรก.แรงงาน" หักหัวคิวส่ง "แรงงานไทย" ไปฟินแลนด์
"อนุทิน" สอบปมเด็กฝาก 7 แสนเข้าตำแหน่ง ขรก.ท้องถิ่น
วันนี้ "ไข่ไก่" ปรับขึ้นราคาฟองละ 30 สตางค์ หรือขึ้นแผงละ 9 บาท