วันนี้ (17 ม.ค.) ความเดือดร้อนของนักเรียนชาวมอแกน ในการเดินทางไปโรงเรียนบ้านเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง โดยในวันนี้ช่วงน้ำลงตอนเช้า ทำให้เรือของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง ไม่สามารถเข้าไปรับเด็กๆ ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนมารับเด็กๆ ชาวมอแกน บนเกาะพยาม จ.ระนอง ด้วยแพที่คนในชุมชนต่อขึ้น และสาวเชือกมาจนถึงกลางแม่น้ำ ก่อนจะถอดรองเท้านักเรียน แล้วเดินลุยน้ำ ออกมาจากชุมชน ส่วนเด็กโตก็จะเดินลุยน้ำออกมาเอง บางคนที่เป็นเด็กเล็ก แม่ก็จะให้ขี่หลังเดินลุยน้ำออกมาก ท่ามกลางความทุลักทุเล
โดยหลังจากลงจากแพ เด็กๆ ก็เดินเท้าต่อผ่านป่าโกงกาง เพื่อไปขึ้นรถเพื่อไปโรงเรียน ซึ่งภาพเหล่านี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เด็กๆ ที่นี่ต้องเผชิญ
และแม้ก่อนหน้านี้ ทางผู้ว่าราขการจังหวัดระนอง จะลงพื้นที่ และระบุว่า ในระยะสั้น อาจจะมีการสร้างโบ๊ะแล้วชักรอกให้ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอแก้ปัญหาเพื่อเสนอให้สร้างสะพานต่อ แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะกระเเสน้ำแรงอาจเป็นอันตราย
โดยปัญหาการก่อสร้างสะพานเชื่อมชุมชนมอแกนกับเกาะพยาม เกิดขึ้นมาเกือบ 10 ปีแล้ว หลังการก่อสร้างสะพานแห่งนี้พบว่า อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพยาม ทำให้เกิดการร้องเรียนและต้องหยุดการก่อสร้าง โดยหลังเหตุแพเด็กนักเรียนล่ม ทำให้เกิดคำถามถึงการก่อสร้างสะพานอีกครั้ง
แม้ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะออกมาชี้แจงว่าไม่ขัดข้องในการเข้าใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสะพาน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยจะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะอนุมัติให้สร้างได้ในพื้นที่ป่าสงวนได้ ทำให้ปัจจุบัน เหลือเพียงตอม่อ และซากสะพานไม้ที่ชาวบ้านเเละเครือข่ายเอกชนเคยสร้างไว้ชั่วคราวที่ชำรุด ทั้งหมดแล้ว
หลายฝ่ายจึงอยากให้นำเรื่องการสร้างสะพานเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีระหว่างสัญจรลงพื้นที่ จ.ระนอง สัปดาห์หน้า เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เลือกปฏิบัติและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่
“เคยมีชาวมอแกน พูดว่า เค้าคงอยากอนุรักษ์ความยากลำบากไว้ให้อยู่กับเรา เค้าไม่ต้องการให้เราพัฒนา เราฟังแล้วก็ใจหาย เพราะมนุษย์รักษาความลำบากของมนุษย์ด้วยกัน แทนที่จะพัฒนาให้ไปพร้อมๆ กัน วันนี้ไม่ได้ทำอะไรให้เค้าเลย ถ้าวันนั้นตัดสินใจสร้างสะพานนั้นให้เสร็จ วันนี้คิดว่า คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวมอแกนน่าจะดีกว่านี้เยอะ” น.ส.รสิตา ซุยยัง เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าว
ไม่เพียงแต่ปัญหาการก่อสร้างสะพานเชื่อมหมู่บ้านเท่านั้นแต่พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ทำให้หลายคนขาดโอกาสในการหางานทำ หรือ การเข้าถึงสิทธิต่างๆ
“พ่อแม่บางคนก็ได้บัตรประชาชนแล้วบ้าง แต่ลูกกลับได้ไม่ครบ เค้าบอกว่า ถ้าอยากได้บัตรก็ต้องเอาผลตรวจดีเอ็นเอมายืนยัน เราไม่มีเงิน และไม่รู้ว่าจะไปตรวจที่ไหน ทำยังไง เพราะแค่ความเป็นอยู่ก็ลำบากแล้ว เวลาไปตรวจก็คงต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ค่ารถราอีก อยากให้ทางรัฐบาลช่วยเรื่องนี้ให้หน่อยคะ” นางปะ ทะเลลึก ชาวมอแกน เกาะพยาม กล่าว
ทั้งนี้ เด็กๆ ชาวมอเเกนบนเกาะพยาม มีประมาณ 50 คน จากจำนวนชาวบ้านกว่า 200 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังมีอาชีพชาวประมง หรือ ออกมารับจ้างทำงานเฉพาะบนเกาะ แต่การออกไปทำงานนอกเกาะก็เป็นเรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่มีเเค่บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ออกให้บุคคลตามยุทธศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์ตกสำรวจเท่านั้น
อย่างไรก็ตามล่าสุด จากข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก "กระทรวงมหาดไทย PR" ย้ำ ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมผลักดันโครงการ และจะใช้โอกาส ครม.สัญจรระนอง เร่งแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนและนักเรียนชาวมอแกน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"สะพานเกาะพยาม" หรือต้องการอนุรักษ์ “ความลำบาก” ไว้ให้ชาวมอแกน