วันนี้ (18 ม.ค.2567) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ระบุ ถึงกรณีกฎหมายคุ้มครองเด็กเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ไม่สามารถนำบังคับใช้ให้กับเด็กทุกคน เนื่องจากการกระทำของเด็กบางกลุ่มบางคนมีความรุนแรงเกินกว่าเหตุและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อีกทั้งยังมีพฤติกรรมอำพรางศพ ซึ่งชี้เห็นว่าเป็นการวางแผนและตรึกตรองมาก่อน
อ่านข่าว : คดี "ป้าบัวผัน" สังคมออนไลน์จี้แก้เกณฑ์อายุเด็กรับโทษ
การวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายคุ้มครองเด็ก ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว ต้องการให้โอกาสเด็กที่กระทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ พลาดพลั้ง ไม่ต้องการให้เป็นตราบาป และไม่ต้องการให้เข้าไปยังเรือนจำ แต่กักขังอยู่สถานพินิจ ซึ่งในประเด็นนี้สามารถให้โอกาสได้กับเด็กที่ไม่ได้กระทำรุนแรง และไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้อื่นเช่นนี้
อัยการคดีนี้สามารถร้องขอต่อศาลได้ น่าจะต้องพิจารณาคดีในรูปแบบพิเศษ โดยให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพิจารณาคดีเทียบเท่าอัตราโทษของผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ซ้ำซาก รวมถึงยังมีมีผู้เสียหายออกมาเปิดเผยความจริงอีกมากมายซึ่ง แล้วแต่ละคดีเป็นเรื่องที่รุนแรงสังคมรับไม่ได้ ในส่วนของกฎหมายยังคงให้คุ้มครองเด็กกลุ่มอื่นอยู่ แต่ในส่วนการกระทำเกินกว่าเหตุหวังให้อัยการร้องขอต่อศาลว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ ต้องมีการพิจารณาแบบพิเศษ
อ่านข่าว : ตร.สอบ 5 วัยรุ่นฆ่า "ป้าบัวผัน" ทิ้งสระน้ำสระแก้ว หลังกล้องวงจรปิดมัด
นายณัฐชา ชี้ว่าเมื่อพิจารณาคดีแบบพิเศษ เยาวชนกลุ่มดังกล่าวก็จะได้รับโทษที่หนักขึ้น มีการกระทำผิดที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และเป็นการคุ้นชินกับการกระทำความผิดไปแล้ว โดยเฉพาะคลิปเสียงที่ออกมาไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ อาจเป็นเพราะครอบครัวคนใกล้ชิดที่เคยช่วยเหลือกันมาในแต่ละครั้ง ทำให้เด็กกลุ่มนี้คุ้นเคยในการกระทำความผิด ดังนั้นบทลงโทษควรทำให้เด็กได้รับการลงโทษที่สังคมยอมรับได้ด้วย
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์ ว่ามีการนำถุงดำคลุมหัวและเป็นการหยอกล้อเล่นหน่อย นายณัฐชายังมองว่า ปัญหาต่าง ๆ ยังกระทบต่อความศรัทธาขององค์กรตำรวจที่เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะตำรวจออกมาอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้อเล่นหยอกล้อ ในคดีที่มีความเป็นความตายอยู่ด้วย ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง รับเรื่องนี้ดำเนินการด้วยตัวเอง และเรียกความเชื่อมั่นจากสังคม
อ่านข่าว : คุม 5 วัยรุ่นฆ่า "ป้าบัวผัน" ส่งสถานพินิจฯ - ยื่นศาลปล่อยตัว "ลุงเปี๊ยก"
สุดท้ายการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ออกมาบอกกับสังคมว่า หยอกล้อหยอกเล่นกัน ในเคสที่มีผู้เสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน มีการกระทำที่ทำให้หลายครอบครัว ตกระกำลำบาก
เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มาตอบแบบนี้ คิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพฤติกรรมที่สังคมมองว่า เป็นเรื่องปกติไปแล้ว คือเมื่อมีการกระทำความผิดโดยลูกหลานเจ้าหน้าที่ ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะนำแพะมารับบาป ในอดีตเกิดขึ้นหลายครั้ง ในอดีตนำคนวิกลจริตมารับบาป เพื่อบอกว่า ผู้กระทำความผิดเป็นโรคจิต ก็จะเป็นโทษอีกแบบหนึ่ง หรือจ้างคนมารับโทษเหตุการณ์เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ได้ไปสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่า ขณะนี้คดีเลยไปจากคำว่าคดีฆ่าคนตายแล้ว แต่เป็นคดีที่ประชาชนคาดหวังในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงเห็นว่า ผบ.ตร.ควรลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อทำให้เห็นว่าคดีนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกใครจะต้องได้รับความเป็นธรรม
อ่านข่าว : ญาติร้อง "บิ๊กโจ๊ก" ขอความเป็นธรรม คดี 5 เยาวชนทำร้าย "ป้าบัวผัน" เสียชีวิต
ส่วนกรณีแนวคิดของ ผบ.ตร.แก้ไขกฎหมายอาชญากรจากกำหนดอายุ 15 ปีให้กำหนดเป็นอายุ 12 ปีนั้น นายณัฐชาระบุว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการหารือกันว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่กรณีวันนี้เป็นกรณีรายบุคคล ซึ่งต่างจากกรณีที่เด็กเยาวชนกระทำผิดซ้ำซาก ที่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเชิงโครงสร้างทั้งหมด
ทั้งนี้ยังเปิดเผยว่าในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ได้รับเชิญจากกรรมาธิการการตำรวจ สภาฯ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงใน จ.สระแก้ว กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือ "ลุงเปี๊ยก" ที่คาดว่าจะมีการเขียนพล็อตเรื่องให้รับสารภาพเพื่อเบี่ยงเบนผู้กระทำความผิด
อ่านข่าวอื่น ๆ
"บิ๊กโจ๊ก" สอบ "ลุงเปี๊ยก" สางคดี "ป้าบัวผัน" ผบช.ภ.2 ยันไม่จับแพะ
"บิ๊กโจ๊ก" สั่งสอบ คลิปเสียงปมถุงดำคลุมหัว "ลุงเปี๊ยก"
คดี "ป้าบัวผัน" สังคมออนไลน์จี้แก้เกณฑ์อายุเด็กรับโทษ
ผู้เสียหายทวงถามความคืบหน้าคดี อ้างถูก "กลุ่มตังค์ไม่ออก" ทำร้าย-เผารถจยย.