ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดจุดผ่อนปรน อนาคตเศรษฐกิจ "สุไหงโก-ลก" จะเป็นอย่างไร ?

ภูมิภาค
21 พ.ย. 67
20:00
23
Logo Thai PBS
ปิดจุดผ่อนปรน อนาคตเศรษฐกิจ "สุไหงโก-ลก" จะเป็นอย่างไร ?
หลังตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก จับกุมนักร้องดังชาวมาเลเซียกับพวกรวม 6 คน เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าทั้งหมดเข้าประเทศผิดกฎหมายและครอบครองยาเสพติด ทำให้ล่าสุดมาเลเซียประกาศเข้มงวดการเข้าออกประเทศ สั่งปิดจุดผ่อนปรน สกัดสิ่งผิดกฎหมาย

วันนี้ (21 พ.ย.2567) ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาเลเซียสั่งปิดจุดผ่อนปรนที่ชายแดนสุไหงโก-ลก มีหลายปัจจัยจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ มุมหนึ่งอาจป้องกันการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่า จุดผ่อนปรนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่มากพอสมควร

เฉพาะจังหวัดนราธิวาส มีจุดผ่อนปรนที่ถูกต้องตามกฎหมาย 7 จุด อยู่ใน อ.แว้ง 2 จุด อ.สุไหงโกลก 2 จุด และ ตากใบ 3 จุด

เมื่อลองใช้กูเกิลแมป ซูมไปที่แม่น้ำโก-ลก ช่วง อ.สุไหงโก-ลก พบว่า มีจุดข้ามแดนธรรมชาติมากกว่า 10 จุด ขณะที่จุดผ่อนปรนที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียง 2 จุดเท่านั้น

จุดผ่อนปรนในเมืองรันตูปันจัง ทหารกองพลทหารราบกองทัพบก มาเลเซีย นำป้ายประกาศของทางการมาเลเซีย ไปติดตั้งบริเวณท่าข้ามทั้ง 7 ท่า ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับท่าเรือข้ามฟากของไทย ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2567 บุคคลที่เข้าออก จากชายแดนมาเลเซีย-ประเทศไทย ผ่านช่องทางผิดกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินคดี ถูกปรับสูงสุด 10,000 ริงกิต หรือ ประมาณ 70,000 บาท จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ การข้ามแดน ขอให้ใช้บอเดอร์พาสหรือพาสปอร์ตเท่านั้น

สุไหงโก-ลก เป็น 1 ในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่น่าสนใจ และได้รับความนิยม เพราะมีตลาดถนนคนเดินช่วงเย็น ริมแม่น้ำโก-ลก มีโรงแรม ห้างค้าปลีก ตลาดสด และมีสถานบันเทิงหลายแห่ง สิ่งเหล่านี้ คือเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน

นักเรียนไทย ที่เรียนในโรงเรียนฝั่งมาเลเซีย เป็นอีกกลุ่มที่ต้องปรับตัวหลังจากนี้ ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า ปกติลูกซึ่งเรียนในโรงเรียนฝั่งมาเลเซีย จะเดินทางไปเรียนผ่านจุดผ่อนปรน เพราะสะดวก และใช้เวลาไม่นาน แต่หลังจากนี้อาจทำให้การเดินทางลำบากมากขึ้น ขณะที่แม่ค้าริมแม่น้ำโก-ลก บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ คือชาวมาเลเซีย ที่ข้ามฟากผ่านจุดผ่อนปรน ซึ่งการประกาศ ครั้งนี้ก็จะทำให้เกิดผลกระทบ

ทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง พึ่งพารูปแบบการข้ามฟากโดยผ่านจุดผ่อนปรน และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่าห่วง

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า การพึ่งพิงเศรษฐกิจชายแดน มีความเปราะบางสูง จากปัจจัยเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ และ สถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้ต้องปิดจุดผ่อนปรนหลายครั้ง มีข้อเสนอจากนักวิชาการว่า รัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องบริบทของพื้นที่ ทั้งศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

แต่แน่นอนว่า เรื่องความมั่นคง ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องหาจุดร่วมของการพัฒนาให้ได้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เตือนนักท่องเที่ยว! สุราปนเปื้อนเมทานอลคร่าชีวิตสาวออสเตรเลีย

สวยสง่า "โอปอล สุชาตา" รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส กลับไทย เปิดใจครั้งแรก

"เสือโคร่งสีทอง" สัตว์หายากที่มีต้นกำเนิดจาก "เสือขาว" ตัวเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง