ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียน "พ.ร.บ.อีอีซี" 5 ปีกับความล้มเหลว สู่ระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค

สังคม
24 ม.ค. 67
10:28
1,228
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียน "พ.ร.บ.อีอีซี" 5 ปีกับความล้มเหลว สู่ระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุผลและความจำเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นระบบ และโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในใจความสำคัญของตราพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561 ที่ระบุเอาไว้ว่า อีอีซี อาจจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผจก.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ฉายภาพให้เห็นถึงที่มาแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค มีแผนแม่บทจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2580) ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผจก.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) (นั่งกลาง)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผจก.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) (นั่งกลาง)

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผจก.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) (นั่งกลาง)

ความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ มันไม่ได้เริ่มมาจากกระบวนการตามปกติ แต่มาจากคำสั่ง คสช. ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วม การออกกฎหมายและกระบวนการต่าง ๆ อย่างเร่งรีบ และรวบรัด พ.ร.บ.อีอีซี ยังไปยกเลิกกฎหมายปกติ 19 ฉบับ ทั้งกฎหมายผังเมือง, การใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ

ละม่อม บุญยงค์ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถมทะเลชายฝั่งเพื่อพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ จุดที่ถมทะเล เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ มีก้อนหินที่สัตว์น้ำมาวางไข่ แต่พอถมทะเล สัตว์น้ำหายไป ทั้งหมึก กุ้ง ปลา หอย รายได้ของประมงพื้นบ้านหายไปกว่าครึ่ง

 

ขณะนี้พื้นที่ทำมาหากินทะเลชายฝั่งของเราหายไป เดิมเคยออกเรือหาสัตว์น้ำได้วันละ 4,000-5,000 บาท วันละ 1 หมื่นบาทก็หาได้ แต่ทุกวันนี้วันละ 400-500 ก็แทบจะหาไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เงินชดเชยก็ไม่เคยได้รับ

“สิ่งหนึ่งที่เรากลัว กลัวว่าถ้าเราหากินไม่ได้จะทำยังไง อีอีซีจะรับผิดชอบเรามั๊ย?”

นอกจากความหลากหลายของสัตว์ที่ลดลงแล้ว พื้นที่ทำมาหากินที่หายไป การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยังพบว่า การเกิดรั่วของสารเคมีและมีขยะ จากกากอุตสาหกรรมที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

สว่าง กระจับเงิน เครือข่ายประชาชนคนรักระยอง บอกว่า ย้ายที่ทำงานจาก จ.นนทบุรี มาอยู่มาบตาพุด จ.ระยอง ก็ดีใจ แต่ปรากฏว่า มาอยู่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะมีมลพิษเกิดขึ้นมากมาย อย่างสาร VOCs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในเขตมาบตาพุด เกินค่ามาตรฐานกว่า 10 เท่า ทั้งที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้มาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2550 แต่เพราะว่า มีต้นตอมาจากโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมที่มีประมาณ 100 กว่าโรง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 600 กว่าในปัจจุบัน

สว่าง กระจับเงิน เครือข่ายประชาชนคนรักระยอง

สว่าง กระจับเงิน เครือข่ายประชาชนคนรักระยอง

สว่าง กระจับเงิน เครือข่ายประชาชนคนรักระยอง

ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้อะไรจากการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มาก่อตั้งในพื้นที่ เพราะไม่ได้สอดคล้องกับการศึกษา คนที่เข้ามาทำงานก็มาจากต่างถิ่น คนในท้องถิ่นกลับไม่ได้ประโยชน์อะไร

5 ปีกับ พ.ร.บ.อีอีซี ที่มีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบทั้งในเรื่องที่ดินทำกิน ผลกระทบทางด้านสุขภาพ มีการขีดสีตีเส้น เปลี่ยนผังเมืองจากพื้นที่กสิกรรม ที่อยู่อาศัย มาเป็นพื้นที่สีม่วง เพื่อเอื้อต่อลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ พ.ร.บ.อีอีซี ก็กำลังถูกก็อบปี้ไปใช้ในร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

สมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช.ระบุว่า ณ เวลานี้โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร รัฐบาลเดินหน้าผลักดันเต็มสูบ และแลนด์บริดจ์ ก็เป็น 1 ในโครงการเมกะโปรเจกต์ ของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ครอบคลุม 4 จังหวัด นี่จึงเป็นตัวเร่งที่ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด

สมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช.

สมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช.

สมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช.

แทนที่รัฐบาลจะไปแก้กฎหมายปกติที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ถ้ามันติดขัดในข้อใดก็ควรไปแก้ไขในบางมาตรา แต่วิธีคิดของรัฐบาลกลับไปออกกฎหมายพิเศษ มันจึงไม่ใช่กฎหมายปกติ

“พ.ร.บ.อีอีซี เกิดขึ้นในยุค คสช. แต่พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน กลับยังใช้กฎหมายฉบับนี้ขยายไปยังพื้นที่ภาคใต้”

ณ วันนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร คนในพื้นที่ภาคใต้บางส่วนกำลังตื่นตา ตื่นใจ กับโครงการเมกะโปรเจกต์ เงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ แต่ถามว่าเขาเห็นภาพเหมือนพี่น้องภาคตะวันออกที่กำลังประสบในขณะนี้หรือไม่

โครงการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ ย่อมส่งผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเล เกษตรกรที่เขาทำกินตลอดเส้นทางที่จะพัฒนาแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร บทเรียนจากอีอีซีที่เกิดขึ้น สุดท้ายชาวบ้านอยู่ตรงไหนของการพัฒนา

คนระนอง คนชุมพรที่เขาปลูกทุเรียน จะต้องเสียสละพื้นที่ด้วยการย้ายออกใช่ไหม วันนี้ชัดเจนแล้วว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชักชวนต่างชาติมาลงทุน โดยให้สัญญาสัมปทาน 50 ปี ขยายได้อีก 49 ปี เท่ากับว่า เราต้องเสียพื้นที่ให้นักลงทุนต่างชาติ ผมจึงอยากให้รัฐบาลมีสติกับการผลักดันเรื่องนี้ เพราะโอกาสที่ลงทุนไปแล้วเจ๊งก็สูง

ไม่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจจะมีกฎหมายพิเศษเพื่อเอื้อต่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แต่พื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ก็จะเป็นพื้นที่ถัดไปที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน ระบุว่า ขณะนี้ภาคอีสานอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตามแนวชายแดน

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน

ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน

ที่น่าจับตาในขณะนี้ ก็คือ โครงการเหมืองแร่โปแตชทั้งใน จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ และอุดรธานี ที่รัฐบาลเพิ่งจะออกใบประทานบัตร ให้เอกชนดำเนินการทำเหมืองแร่ได้

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ “โครงการไบโอฮับ” ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน ทำให้เกิดการแย่ง ยึดที่ดินจากชาวบ้านมาอยู่ในมือของเอกชน ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดิน และใต้ดิน จะถูกทำลายอย่างเลี่ยงไม่ได้

เราเห็นความบอบช้ำที่เกิดขึ้นกับพี่น้องภาคตะวันออก เราไม่อยากจะใช้ความเจ็บปวดของอีอีซีมาเป็นบทเรียนให้กับคนอีสาน เพราะขณะนี้คนอีสานก็ได้รับผลกระทบจากทำเหมืองแร่โปแตชใน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อุโมงค์ใต้ดินจากเหมืองแร่โปแตชที่รั่วซึม มันส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการชดเชยเยียวยา เพราะกลไกการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นไปอย่างเข้มข้น

ดร.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส สะท้อนถึงโครงการพัฒนาของรัฐ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งมุกดาหาร นครพนม และหนองคาย ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปีก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะในมุมมองของรัฐ การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการเอื้อเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่กลับไม่ได้มีการส่งเสริมให้กลุ่มทุนท้องถิ่นเติบโต

ดร.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส

ดร.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส

ดร.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส

ยกตัวอย่างเช่น ถนนหมายเลข 12 มุกดาหาร-แม่สอด หรือ E-Wec ที่รัฐบาลลงทุนตัดถนนเพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการขนส่ง 4 ประเทศ (เวียดนาม-ลาว-ไทย-เมียนมา) แต่ปรากฎว่ากลับไม่มีนักลงทุนสนใจลงทุน

ถนนสายมุกดาหาร-แม่สอด ใช้เงินลงทุนไม่น้อย แต่สุดท้ายกลับไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า นั่นชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการพัฒนาของรัฐมันล้มเหลว

ข้อเสนอในวงเสวนา “ความล้มเหลว 5 ปี บทเรียน พ.ร.บ.อีอีซี สู่แนวคิดประเด็นเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกกำหนดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

วงเสวนา “ความล้มเหลว 5 ปี บทเรียน พ.ร.บ.อีอีซี สู่แนวคิดประเด็นเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

วงเสวนา “ความล้มเหลว 5 ปี บทเรียน พ.ร.บ.อีอีซี สู่แนวคิดประเด็นเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

วงเสวนา “ความล้มเหลว 5 ปี บทเรียน พ.ร.บ.อีอีซี สู่แนวคิดประเด็นเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

เสนอให้ยกเลิก หรือแก้ไข พ.ร.บ.อีอีซี หรือกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ภูมิภาค ให้ประชาชนและท้องถิ่นจัดทำเศรษฐกิจพิเศษฉบับประชาชน ให้สอดคล้องกับภูมินิเวศในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวอาวุโส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง