รัฐสภาตุรกี ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 287 ต่อ 55 และงดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบการอนุมัติให้ "สวีเดน" เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศที่สมัครเข้าร่วมจะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งในกรณีของสวีเดน นอกเหนือจากตุรกีแล้ว ยังมีฮังการีอีกประเทศหนึ่งที่สกัดไม่ให้สวีเดนเข้าร่วม
สวีเดน เป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางมาตลอด แต่การที่รัสเซียใช้กำลังบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.2022 ทำให้สวีเดนรวมถึงฟินแลนด์ ตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนและหันมาเลือกข้างด้วยการสมัครเข้าร่วมกับนาโตอย่างเป็นทางการ หลังเกิดสงครามในยูเครนประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ฟินแลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโตอย่างเป็นทางการ แต่สวีเดนยังติดปัญหา เนื่องจากตุรกีและฮังการีคัดค้าน
ทั้งตุรกีและฮังการีต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย นอกจากนี้ตุรกียังมองว่ารัฐบาลสวีเดนไม่ยอมจัดการกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตุรกีที่อาศัยอยู่ในสวีเดน โดยตุรกีระบุว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำให้ตุรกีใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องนี้กดดันให้สวีเดนและชาติพันธมิตรยอมให้ในสิ่งที่ตุรกีต้องการ
สิ่งแรกคือ รัฐบาลสวีเดนยอมเพิ่มปรับแก้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงการทำงานร่วมกับตุรกีมากขึ้นเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
นอกจากนี้ตุรกียังยื่นข้อเรียกร้องไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสวีเดนด้วย โดยต้องการให้สหรัฐฯ อนุมัติการขายเครื่องบินรบ F-16 ของบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอุปกรณ์อื่นๆ อีก 79 รายการ ที่จะช่วยเสริมศักยภาพของเครื่องบินรบที่ตุรกีซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้
ตุรกีแสดงความสนใจต้องการซื้อเครื่องบิน F-16 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2021 แต่ถูกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ปัดตก เพราะตุรกีไม่ยอมเปิดทางให้สวีเดนเข้าร่วมกับนาโต รวมถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในตุรกี นอกจากนี้ สวีเดน ฟินแลนด์ แคนาดาและเนเธอร์แลนด์ ยังยอมผ่อนคลายนโยบายการส่งออกอาวุธให้กับตุรกีอีกด้วย แม้เบื้องหลังของเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องการต่อรอง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่หลายฝ่ายก็พอใจกับผลลัพธ์
ขณะที่รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ฝากไปถึงฮังการี ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังไม่ยอมไฟเขียวให้กับสวีเดน ว่า สหรัฐฯ เฝ้ารอกระบวนการของฮังการีที่จะยอมรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต
ส่วนของฮังการี มีแนวโน้มว่าอาจจะให้ไฟเขียวสวีเดนในอีกไม่ช้า เพราะหลังจากรัฐสภาของตุรกีลงมติยอมรับสวีเดนแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการีได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนให้มาเยือนฮังการี เพื่อหารือเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าฮังการีจะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างชัดเจนหลังวันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปิดประชุมรัฐสภา แต่คาดว่าในระหว่างนั้นการหารือน่าจะมีความคืบหน้าพอสมควร
อ่านข่าวอื่นๆ
รัสเซียชี้ "ยูเครน" ยิงเครื่องบินขนเชลยตก จงใจละเลยสวัสดิภาพคนบนเครื่อง