แต่ประเทศหรือองค์กรอื่นๆ สามารถใช้คำสั่งของศาลโลกในการอ้างอิงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือเป็นบรรทัดฐานเพื่อดำเนินคดีกับอิสราเอลในศาลอื่นๆ ได้
วันนี้ (26 ม.ค.2567) เวลา 19.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย คณะผู้พิพากษา 17 คนของศาลโลก เตรียมอ่านคำแถลง ว่าจะออกคำสั่งฉุกเฉินให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการโจมตีกาซาหรือไม่ สืบเนื่องมาจากคดีที่แอฟริกาใต้อ้างอิงจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กล่าวหาอิสราเอลว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ จากการโจมตีกาซา ทั้งทางบกและทางอากาศ เพื่อตอบโต้หลังจากถูกกลุ่มฮามาสบุกโจมตี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้คำร้องของแอฟริกาใต้ นอกเหนือจากการระงับปฏิบัติการทางทหารในกาซาและหยุดการโจมตีกาซาทันทีแล้ว ยังรวมถึงยุติการบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน การสกัดกั้นไม่ให้ชาวปาเลสไตน์เข้าถึงอาหารและน้ำ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ โดยคำสั่งเหล่านี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราว
ซึ่งในคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา ศาลโลกมักจะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงไปมากกว่านี้ ในระหว่างที่ศาลโลกกำลังพิจารณาข้อกล่าวหาซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา อีก 3-4 ปี กว่าจะมีคำสั่งตัดสินว่าอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์จริงหรือไม่
นิยาม "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"
หมายถึงการกระทำใดๆ ที่เจตนาทำลายกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติหรือกลุ่มศาสนา ทั้งหมดหรือบางส่วน
การกระทำดังกล่าว ได้แก่
- การสังหารสมาชิกของกลุ่ม
- การทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ
- การจงใจทำลายสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่ม
- การกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดภายในกลุ่ม
- การบังคับย้ายเด็กๆ หรือลูกหลานออกจากกลุ่ม
ในคำฟ้องของแอฟริกาใต้ระบุว่าการกระทำของอิสราเอลเข้าข่าย เนื่องจากการโจมตีในกาซา มุ่งทำลายโครงสร้างประชากร โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้หญิง
ในขณะที่อิสราเอลแก้ต่างข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยยืนยันว่า การโจมตีกาซาเป็นไปเพื่อป้องกันตนเอง หลังจากที่ถูกกลุ่มฮามาสบุกเข้ามาโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา และลักพาตัวประกันไปมากกว่า 200 คน โดยปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น มีการวางแนวทางปกป้องชีวิตพลเรือนในกาซา อย่างกรณีที่สั่งให้ประชาชนอพยพลงไปทางใต้ ก่อนที่จะอิสราเอลจะเริ่มโจมตีพื้นที่ตอนเหนือและย้ำว่าเป้าหมายการโจมตีคือกลุ่มฮามาส
อิสราเอลแย้งว่าข้อกล่าวหาของแอฟริกาใต้ไม่มีมูล อิสราเอลไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำด้วยซ้ำ เพราะรอบนี้อิสราเอลถูกกลุ่มฮามาสลอบเข้ามาโจมตีก่อน ดังนั้นอิสราเอลจึงมีสิทธิในการป้องกันตนเอง ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับพลเรือนทั้งชาวปาเลสไตน์ในกาซาและชาวอิสราเอลต่างมาจากการกระทำของฮามาสทั้งสิ้น
อ่าน : คลิปเสียงหลุด "เนทันยาฮู" โทษ "กาตาร์" ตัวปัญหา
นอกจากนี้อิสราเอลยังกล่าวหาว่าแอฟริกาใต้ทำตัวเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มฮามาส ซึ่งกลุ่มนี้ถูกหลายประเทศขึ้นบัญชีในฐานะเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่แอฟริกาใต้ปฏิเสธ ซึ่งก่อนหน้านี้แอฟริกาใต้ระบุว่าสาเหตุที่ยื่นฟ้องอิสราเอล เพราะความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการทำสงคราม
อ่านข่าวอื่น :