วันนี้ (2 ก.พ.2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้สำรวจตัวเลขสถิติความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ซึ่งสถิติที่เราเห็นคือการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
โดยประเด็นเรื่องเด็กค่อนข้างเป็นภาวะวิกฤตในสังคมปัจจุบัน ทั้งเป็นผู้ถูกกระทำและกระทำการเอง มีการฆ่า การแทงกัน เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ เป็นความสูญเสีย ต้องบอกว่าเวลามีกรณีเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นนั้น ครอบครัวของผู้ถูกกระทำและครอบครัวของผู้กระทำล้วนแต่เกิดความสูญเสีย
นายวราวุธ กล่าวว่า จากการประเมินของกระทรวง พม. โดย ศรส. พบสาเหตุของความรุนแรง มีอยู่ 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เป็นความรู้สึกนึกคิด ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดเป็นภาวะป่วยทางจิตขึ้นมา จะต้องแก้ไขต่อไป
ประเด็นที่ 2 คือ ครอบครัว การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ที่ไม่เหมาะสม ขาดการเอาใจใส่กับเด็กและเยาวชน ขาดการชี้นำหรือการสั่งสอนที่ถูกต้องจากคนในครอบครัว
ประเด็นที่ 3 คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เด็กและเยาวชนของเรานั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าไปพัวพันกับอบายมุข หรือยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายทั้งหลาย
ภาพประกอบข่าว
ประเด็นที่ 4 คือ รายได้และความเป็นอยู่ของครอบครัวของเด็กและเยาวชน ซึ่งพอมีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะเกิดความล่อแหลมที่จะทำผิดง่ายๆ ในการทำสิ่งผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีในท้ายที่สุด
ประเด็นที่ 5 คือ เรื่องในสถานศึกษาที่มีการบูลลี่กัน ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ทางไซเบอร์ การบูลลี่ต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ
ประเด็นที่ 6 คือ ต้องขอฝากสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวและรายละเอียดเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เรื่องเกมออนไลน์ต่าง ๆ โซเชียลมีเดียหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดจนครบถ้วน เพราะยิ่งมีข่าวเพิ่มมากขึ้น จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบของคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
ขอฝากสื่อมวลชนในการจำกัดรายละเอียด แต่ไม่ได้จำกัดการนำเสนอข่าว จำกัดการนำเสนอรายละเอียดของแต่ละเคสที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ ทั้งสถานที่ ตำบล อำเภอ ซึ่งบางครั้งแทบจะชี้ได้เลยว่า ผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำเป็นคนที่ไหนหรือชื่ออะไร
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ประเด็นเหล่านี้ทางกระทรวง พม. มีความเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่ง และในที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เราได้มีแนวทางที่สำคัญในการป้องกันเด็ก ไม่ให้ก้าวข้ามจากกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มที่กระทำความผิด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ชุมชน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนก้าวข้ามจากกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นกลุ่มผู้กระทำผิด
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่กระทรวง พม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันเรามีกฎหมายอยู่ประมาณ 3 ฉบับ ที่ขอให้คณะกรรมการกฎหมายเร่งดำเนินการ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจะเร่งดำเนินการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในปลายปีนี้ จะมีการประชุมสำคัญระดับโลก ที่ประเทศโคลัมเบีย เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในครอบครัว กฎหมายฉบับนี้เราจะเร่งทำให้สำเร็จภายในปีนี้
นายวราวุธ กล่าวว่า ซึ่งพม.ตั้งเป้าหมายไว้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการผ่านทางคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา
ดังนั้นปลายปี ทางประเทศไทยจะได้กล่าวบนเวทีโลก ว่าเรามีกฎหมายคุ้มครองการกระทำความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีอนุบัญญัติกฎหมายรอง ที่กระทรวง พม. เร่งดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวง พม. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเรามีกฎหมายรับรองอยู่รวมกันกว่า 10 ฉบับ ที่กำลังเร่งดำเนินการ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวราวุธ กล่าวว่า ในวันที่ 7 มี.ค.2567 กระทรวง พม. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปเกี่ยวกับเรื่องปัญหาโครงสร้างประชากร ที่ศูนย์สิริกิติ์ โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างประชากร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชน เข้าร่วม เพื่อรับทราบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรซึ่งวันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว
ดังนั้นหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการอย่าง ใดอย่างหนึ่ง อีกไม่เกินสิบปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สถานะสังคมผู้สูงอายุสุดยอด ซึ่งจะทำให้ปริมาณกลุ่มคนที่จะอยู่ในอายุแรงงานนั้น จะน้อยลงทุกปี และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านต่าง ๆ จะไม่สามารถทำได้เพราะประเทศไทยจะขาดกลุ่มคนอายุแรงงาน ดังนั้นขอเชิญร่วมหาแนวทางเพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศไทย