ข่าวถูกนำเสนอบนสื่อต่าง ๆ สิ่งแรกที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือ “เกี่ยวอะไรกับคดีรีดทรัพย์อธิบดีกรมการข้าวมั้ย” “เป็นเอกสารเรื่องหมูเถื่อน-ตีนไก่หรือเปล่า”
วันที่ 4 ก.พ. นายไชยา พรหมมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้าไปในกระทรวงฯ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานฯ กำลังทำงาน จึงไม่ได้เข้าไปในห้องทำงาน ที่ระบุว่าอยู่ใกล้ที่ถูกไฟไหม้
แต่ได้รู้เบื้องต้นว่า ความเสียหายมาจากห้องครัว จากนั้นลามไปห้องคณะทำงาน ส่วนของตนเองนั้นปลอดภัย ไม่มีเอกสารเสียหายแม้แต่แผ่นเดียว
อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ พฐ.ตรวจสอบเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ รปภ.ก็ปิดอาคารทันที พร้อมระบุว่า “มีคนสั่งไม่ให้เข้า” ทราบต่อมาว่า นั่นคือ คำสั่งของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้ากระทรวงเกษตรฯ
สร้างความขุ่นใจเล็กๆ ให้กับนายไชยา เพราะอย่างน้อยตนเองก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ แถมยังไม่ได้รับแจ้งว่า จะเข้าไปยังห้องทำงานได้เมื่อใด แต่ยังยืนยันว่า ไม่มีเอกสารสำคัญอะไรในนั้น
พร้อมตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงข้อสงสัยว่า “มีเอกสารที่เกี่ยวกับคดีรีดทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว” หรือไม่ เจ้าตัวบอกว่า “ผมไม่ได้ดูแลกรมการข้าว” และหน่วยงานใด ๆ ที่กำลังเป็นข่าว ยกเว้น กรมฝนหลวงฯ ซึ่งแค่ถูกพาดพิงเท่านั้น
และคนร้องเรียนก็เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ ศรีสุวรรณ จรรยา และเจ๋ง ดอกจิก และไม่ได้มาร้องเรียนกับตนเองด้วย
ขณะที่ค่ำ วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเดินทางกลับจาก จ.ขอนแก่น-ชัยภูมิ ก็เลยเข้าไปที่กระทรวงฯ เพื่อดูที่เกิดเหตุ พร้อมระบุว่า ต้นเพลิงเป็นห้องประชุมย่อย ของคณะทำงานที่ปรึกษานายไชยา
ผ่านมาถึงเช้าวันจันทร์ที่ 5 ก.พ.2567 กระทรวงเกษตรฯ ยังคงเข้มงวด มาตรการรักษาความปลอดภัย “ใครไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า” ใครจะเข้าต้องแลกบัตร
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ และนายไชยา พรหมมา รมช.เกษตรฯ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ในกระทรวงฯ
ข้าราชการของกระทรวงฯ เข้ามาทำงานตามปกติ แต่ให้เข้าได้ทางประตู 1 ฝั่ง ถ.ราชดำเนิน และออกทางประตู 3 ฝั่ง ถ.วิสุทธิกษัตริย์ สำหรับประตู 2 ฝั่งถนนราชดำเนินปิด
จากคำสั่งจาก ร.อ.ธรรมนัส ว่า “ห้ามนักข่าวและม็อบเข้ากระทรวงทุกกรณี (จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง) แม้แต่สื่อมวลชน
ทำให้วันนี้ไม่มีใครอยู่กระทรวง (หมายถึงรัฐมนตรีและผู้บริหาร)
ส่วนวาระงานวันนี้คือ “การประชุมงบประมาณปี 2568” ที่ทั้งหมด ย้ายไปประชุมที่กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ทั้ง 2 คน มีนัดประชุมหารือ เพื่อจัดทำงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่กระทรวงเกษตรฯ แต่เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงต้องย้ายที่ประชุมไปที่กรมชลประทาน
ที่ต้องรีบทำงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2568 เพราะกรรมาธิการทุกคณะ ต่างเร่งรีบให้ทันกับความต้องการของรัฐบาล
อ่านข่าว :"ไชยา" ใช้กรมชลฯ ทำงานชั่วคราว โฆษกเกษตร แจงไฟไหม้อย่าโยงการเมือง
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส. และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ กล่าวถึงเรื่องไฟไหม้อาคารกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะมีผลกระทบกับเอกสารหรือการทำงบประมาณหรือไม่
โดยเฉพาะเอกสารของกรมฝนหลวงฯ ที่อธิบดีจะนำไปชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ รวมถึงอธิบดีกรมการข้าวด้วย
ส่วนกรณีที่นายไชยา ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 5 คณะ เพื่อดูแลโครงการจัดซื้อเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ นั้น นายกรุณพล บอกว่า จริง ๆ ฟังได้ แต่การที่กรรมาธิการตั้งข้อสงสัยไม่ได้หมายความว่า เกิดการทุจริต แต่เราเกิดข้อสงสัยว่า เหตุอันใดที่จำเป็นจะต้องเป็นบริษัทนี้ จึงจำเป็นจะต้องเป็นเครื่องบินสเปคนี้ และทำไมจะต้องเป็นราคาเท่านี้
ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือส่งกำลังบำรุงหรือซ่อมบำรุงมากน้อยแค่ไหน เป็นการตั้งคำถามเพื่อที่จะให้ใช้ภาษีประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผมเชื่อว่าต่อให้เราตั้งคำถามอย่างไร แต่ถ้ามีคำตอบที่น่าสงสัย และประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบได้ ตนว่าไม่มีปัญหา ขออย่ากังวลว่า กรรมาธิการตั้งคำถามแล้วจะกลายเป็นผู้ผิดหรือผู้ทุจริต
นายกรุณพลกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ กรมฝนหลวงฯ ยืนยันว่า อธิบดีจะเข้ามาชี้แจงเอง แต่อธิบดีกรมการข้าว ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมาด้วยตนเอง แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในขณะที่สังคมตั้งข้อสงสัยในตัวอธิบดีกรมการข้าว ทั้งเรื่องที่นายศรีสุวรรณร้องเรียน หรือเรื่องที่ได้ยินจากหน่วยงานต่าง ๆ มา ก็อยากให้อธิบดีมาชี้แจง เพื่อขจัดข้อสงสัย
และเปิดโอกาสให้ซักถาม รวมถึงชี้แจงเอกสาร ซึ่งตนเชื่อว่า ข้าราชการในประเทศนี้ ได้ใช้ภาษีที่มาจากประชาชน ก็จะสามารถตรวจสอบได้จากผู้แทนที่มาจากประชาชน
ไฟไหม้ที่ชั้น 2 ของอาคารกระทรวงเกษตรฯ ดับไปแล้ว แต่ที่ยังคุกรุ่นอยู่ก็เห็นจะเป็นทั้งเรื่องงบประมาณ ที่นายไชยาบ่นราวน้อยใจว่า ไม่มีส่วนพิจารณาอนุมัติด้วย และยังมีเรื่องชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ ที่ไม่รู้ว่าใครจะไป หรือไม่ไป และผลจะออกมาอย่างไร