ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เคล็ดวิธีรับมือ เมื่อมนุษย์เงินเดือน "ถูกเลิกจ้าง-ตกงาน" กะทันหัน

ไลฟ์สไตล์
6 ก.พ. 67
14:58
4,610
Logo Thai PBS
เคล็ดวิธีรับมือ เมื่อมนุษย์เงินเดือน "ถูกเลิกจ้าง-ตกงาน" กะทันหัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตกงาน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรับมือ สำหรับมนุษย์เงินเดือน การเตรียมพร้อม สภาพจิตใจและร่างกาย เพื่อรับแรงกระแทกได้อย่างมีสติ เร่งหาทางเลือก และรีบลุกขึ้นมาสู้ต่อ เพื่อทางรอดของตัวเองและครอบครัว ในอนาคต

"ไม่ได้อยากออกเลย น้องเอย น้องเอย เขาเชิญ ให้ออก เจ้านายเขาบอก เขาบอก ว่าเศรษฐกิจไม่ดี โอ่ยโอ่ยโอย "ท่อนฮุคในเพลง เศรษฐกิจหารสอง ที่ร้องโดยนักร้องลูกทุ่ง "ก๊อท จักรพันธ์" ไม่เคยล้าสมัยตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จนถึงใกล้เข้ายุควิกฤตต้มกบปี 2567

เมื่อชีวิต "การทำงาน" ของมนุษย์เงินเดือน อาจต้องปิดฉากลง จากเหตุถูกเลิกจ้างงานกะทันหัน บริษัทประกาศปิดกิจการ ลดไซส์เพื่อรักษาเสถียรภาพมั่นคง สภาพการ "ตกงาน" หรือภาวะจำยอมต้องมีชื่อถูกเลิกจ้าง ทำให้หลายคนตกใจถึงขั้นสติหลุด ตีโพยตีพาย บางรายถึงกับคิดคร่าชีวิตตัวเอง

แต่ช้าก่อน...ชีวิตยังมีอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งรายจ่ายประจำเดือน และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ที่จ่อคอหอยอยู่ในทุกๆเดือน และชีวิตไม่ได้มีเส้นทางเดียว แม้จะตกงานแล้ว อาจจะมีทางใหม่ให้เดินต่อ

ก่อนอื่นต้องตั้งสติและกำเงินที่มีอยู่ในมือให้แน่นๆ เตรียมตัว เตรียมใจ แสวงหาสิ่งที่เราชอบและถนัด ที่สำคัญคือ ต้องมองโลกในทางบวก และมองหาวิธีการที่จะทำให้เราเดินต่อ และเติบโตได้อย่างมั่นคงมาดูวิธีการสร้างแรงบันดาลใจ และใจบันดาลแรง เพื่อรับมือกับวันพรุ่งนี้ของชีวิตกันดีกว่า

1.ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์

แม้ไม่ง่ายแต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับมันได้อย่างโฟลว์ ช่วงอายุและประสบการณ์จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญกับการรับมือกับปัญหา กลุ่มเด็กจบใหม่ที่ไม่มีทักษะหรือสกิล อาจเป็นกลุ่มที่ต้องตั้งรับกับปัญหา และต้องปรับตัวจากความเครียดเรื่องรายได้จากการทำงาน ยิ่งหากไม่พยายามเพิ่มทักษะในเรื่องต่าง ๆ เมื่อเจอเหตุการณ์นี้อาจจะรับมือได้ยากทำอะไรไม่ถูก แต่หากพยายามพัฒนาตัวเอง เมื่อเจอปัญหาโอกาสในการหางานก็มากขึ้นความเครียดก็อยู่กับเราสั้นลง      

ดังนั้นในระหว่างที่ต้องหางานใหม่จึงไม่ควรสร้างภาระหนี้เพิ่มและเพื่อให้ไม่เครียดจนเกิดไป อาจปรึกษาเพื่อนหรือผู้ที่มีประสบการณ์เพื่อแสวงโอกาสใหม่

2. ดูแลจิตใจตัวเอง

มองโลกสวยมุมบวกว่า ในช่วงระหว่างนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เราได้พักผ่อน ลองหาโอกาสออกไปใช้ชีวิตหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง ไม่จมอยู่กับปัญหา และการกลับไปอ้อมกอดของครอบครัวที่ต่างจังหวัด เป็นการเพิ่มเติมกำลังใจ อาจเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ แต่อาจช่วย "ฮีลใจ" เราได้

สำหรับผู้ที่ลาออกจากงานอย่างกะทันหัน อาจมีความเครียดทวีคูณ จนบางครั้งนำไปสู่การคิดสั้น บางคนที่มีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ต้องไม่อยู่คนเดียว การพูดคุยเพื่อระบายความรู้สึกกับเพื่อนจะช่วยดีขึ้น อีกหากต้องตกงานอย่าทะนงตัว อย่าปฏิเสธงาน แม้จะได้เงินเดือนไม่เท่าเดิมก็ตาม เพราะสุดท้ายค่าใช้จ่าย คือ สิ่งที่จะต้องผ่านไปแต่ละเดือน เพราะไม่มีใครจะโอบอุ้มคุณได้ไปตลอด 

3.ออกกำลังกาย หางานอดิเรก

ช่วงที่พักงานเหมือนได้พักร่างกาย ถือโอกาสนี้ใช้เวลาว่างออกกำลังกาย เมื่อร่างกายแข็งแรง เราก็พร้อมกลับไปเริ่มต้นใหม่เรื่องงานได้อย่างเต็มที่ เพราะบางคนทำงานหนักมาตลอด ให้เวลาได้อยู่กับตัวเอง จะได้กระปรี้กระเปร่า ไม่นั่งจมอยู่กับปัญหาความวิตกกังวลมากไป

แต่การใช้จ่ายช่วงนี้ก็ต้องระวังอย่าตามใจตัวเองมากเกินไป ใช้เวลาช่วงนี้ในการทำกิจกรรมผ่อนคลายตัวเองฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ 

5.เช็กสิทธิชดเชย

เมื่อต้องออกจากงานด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ อย่าลืมเช็กสิทธิ์ที่พึงจะได้ โดยสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม จะได้ไม่พลาดสิทธิประโยชน์ของตัวเองที่พึ่งจะได้

6.ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชย

หากใครเป็นผู้ประกันตนให้ไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงาน และรายงานตัวเพื่อรับผลประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทำผ่านระบบออนไลน์ได้เลย เว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน โดยสามารถเช็กขั้นตอนและวิธีการ อ่านเพิ่มเติม : พนักงานประจำ - ลูกจ้าง "ลาออก" ต้องไม่ลืม "ประกันสังคม"  

ถูกเลิกจ้าง "ค่าชดเชย" สิทธิที่ลูกจ้างต้องได้

เงินที่นายจ้างต้องชดเชย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ และตามกฎหมายลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชย ดังนี้

กรณีถูกเลิกจ้าง

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

- ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

- ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

- ลูกจ้างทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 

7. เรียนรู้และอัปเกรดตัวเอง

แม้เราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งในทุกด้านแต่ทุกอย่างเรียนรู้กันได้ และในการทำงานหรือแม้แต่การใช้ชีวิตจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มสกิล หรือ ทักษะ ของตัวเองอยู่เสมอ อาจลองหาคอร์ด อบรมเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ทั้ง ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เรียนรู้การใช้สื่อออนไลน์ทำเงิน ทำอาหาร การลงทุนด้านการเงิน เป็นต้น 

8. ชีวิตของเรายังต้องก้าวเดินต่อ 

ใช้ช่วงนี้ ในการสานสัมพันธ์กับคนที่เราได้ละเลยไป จากที่ผ่านมาทำงานหนักไม่ได้เจอเพื่อนไม่ได้เจอครอบครัว เรื่องที่มันแย่จากงาน จากสังคม การทำงาน ลองใช้เวลาในช่วงนี้กลับไปฟื้นฟู และสิ่งที่ได้กลับมา มันจะมาซัพพอร์ตที่ "ใจเรา" ถ้าครอบครัวแข็งแรง "จิตใจ" เราก็จะแข็งแรงตามไปด้วย

การดูแลจิตใจ ดูแลตัวเอง ความสามารถของตัวเอง จัดการเรื่องเงินให้ดี และกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบตัว นั้นจะกลับให้คุณกลับมาแข็งแรงโดยเร็ว ในระหว่างนี้หากสภาพจิตใจไม่ดีอย่าได้อายที่จะไปปรึกษานักจิตวิทยา

อ่าน ต้องรู้! "ลูกจ้าง" มีสิทธิลาได้ 3 วันเพื่อกิจธุระอันจำเป็น

ไม่ว่าตอนนี้เราจะเผชิญในสถานการณ์แบบไหนการเตรียม "เงินเย็น" เอาไว้ ให้เพียงพอ สามารถดำรงชีวิตของเราได้ในช่วงเวลาที่เราต้องหางานใหม่ เป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วต้องมีเงินสำรองในกระเป๋าเท่าไรถึงจะพอ 

ในเรื่องนี้อาจนำเทคนิค หรือข้อแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มาใช้ประกอบการวางแผนทางการเงินให้คนที่อาจวิตกกังวล หากชีวิตต้องเจอปัญหากับการมี "เงินออมเผื่อฉุกเฉิน" ไว้สำรอง

คือ เงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมี เพราะเป็นเงินที่สามารถนำมาใช้ได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และต้องใช้เงินโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

นั้นคือ ควรมีเงินเอาไว้เท่ากับที่จำเป็นต้องใช้ต่อเดือน 3 เดือน ถึง 6 เดือน คือ หากยังไม่สามารถหางานใหม่ต่อเนื่องได้ทันทีในช่วงเวลานี้ ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ แต่ดีที่สุดอาจเตรียมไว้อย่างน้อย 1 ปี ตรงนี้แล้วแต่ใครจะไหว ระหว่างที่เรายังมีแหล่งรายได้ระหว่างที่เป็นลูกจ้าง และต้องไม่ลืมว่า เราเก็บเงินเอาไว้บางส่วน นั้นเพราะโลกแห่งการทำงาน "มันไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ"

หากอยากลองคำนวณ "เงินออมเผื่อฉุกเฉิน" ที่ตัวเราเองควรมี อาจเริ่มต้นจาก 2 คำถาม คือ 

1.ในหนึ่งเดือนมีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้ครอบครัว และมีหนี้สินที่ต้องชำระแต่ละเดือนรวมทั้งสิ้นเท่าไร

2.หากตกงานหรือไม่สามารถทำงานได้ จะใช้เวลาในการหางานใหม่ได้ในเวลากี่เดือน

อ่าน สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้! เช็กสิทธิ "ลาหยุด ลาป่วย ลากิจ" ตามกฎหมายแรงงาน

เทคนิค 1 ลด 3 เพิ่ม

เมื่อรู้แล้วว่าตัวเลขเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะกับตนเองแล้ว ยังมีข้อแนะนำดี ๆ ในการออมเงินเผื่อฉุกเฉินกับ 1 ลด 3 เพิ่ม ดังนี้ 

 "ลด" รายจ่ายไม่จำเป็น มาเป็นเงินออมในแต่ละเดือน เช่น ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ลดการเสี่ยงโชค ตรวจสอบโปรโมชันโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ว่าใช้คุ้มหรือไม่ นำเงินที่ประหยัดได้มาเก็บออมในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน แม้จะครั้งละหลักสิบหลักร้อย แต่รวม ๆ แล้วหนึ่งปีก็เก็บได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

"เพิ่ม" บัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินโดยเฉพาะ เปิดบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินแยกออกจากบัญชีที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และต้องสามารถถอนมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ โดยอาจเลือกฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำกัดจำนวนในการถอนต่อเดือน ซึ่งการแยกบัญชีจะทำให้เราไม่เผลอนำเงินออมมาใช้จ่าย จัดการเงินได้อย่างมีระบบ

มาถึงข้อนี้อาจเคร่งครัดวินัยมากขึ้น คือ

"เพิ่ม" รายการโอนอัตโนมัติหลังได้รับเงินเดือน คนส่วนใหญ่เวลาที่เราได้รับเงินเดือน เราอาจต้องคิดก่อนว่าจะต้องใช้อะไร เหลือเราค่อยออม สลับกัน แล้วหากเราเอาเงินออกมาออมก่อน แล้วค่อยใช้ในส่วนที่เหลือ แต่หากเราไม่ไว้ใจตัวเอง เราจึงอาจใช้การผูกบัญชีอัตโนมัติเอาไว้

เช่น เรื่องของการฝากประจำให้ตัดบัญชีเลย ตรงนี้จะได้มีเงินออมเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราใช้ส่วนที่เหลือ ไม่ใช่เหลือแล้วค่อยออม นี้อาจเป็นกรณีหนึ่งที่เราอาจจะมีฟูกเอาไว้ กรณีที่เกิดปัญหาจะได้มีกันชน หรือเจอแรงกระแทกจนเรารับไม่ได้

เนื่องจากเงินออมเผื่อฉุกเฉินเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ไม่สามารถเก็บได้ในครั้งเดียว เราจึงต้องมีเทคนิคในการสะสมเงินออมเผื่อฉุกเฉินง่าย ๆ ด้วยการเพิ่มรายการโอนอัตโนมัติซึ่งทำได้จากแอปพลิเคชันใน mobile banking ให้โอนเงินจากบัญชีเงินเดือนไปยังบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินทุก ๆ เดือน อาจเริ่มต้นทีละน้อยแล้วจึงค่อย ๆ ปรับ วิธีนี้จะทำให้เราได้ออมก่อนนำเงินไปใช้จ่าย และได้ทยอยสะสมเงินออมเผื่อฉุกเฉินจนครบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

และอีก "เพิ่ม" คือ เงินคืนในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินหลังใช้งาน เมื่อใช้เงินในบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไปแล้ว ต้องอย่าลืมว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นได้ หากนำเงินออกมาใช้ ก็ต้องทยอยคืนให้เต็มตามจำนวนเดิม เพื่อให้พร้อมใช้งานเสมอ 

ดังนั้น จะถูกเลิกจ้าง หรือเปลี่ยนงาน แต่การวางแผนทางการเงินของเราให้ดี แล้วเมื่อเราต้องเผชิญสถานการณ์ น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แม้เหตุการณ์ร้าย ๆ ยังไม่เกิดขึ้นและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่การเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ เป็นสิ่งที่เราต้องมี เพื่อจะได้รับมือได้ ในวันที่เกิดเหตุไม่คาดฝันกับชีวิตการทำงาน

อ่านข่าวอื่น ๆ

โรงแรมดังเขาใหญ่ สั่งพักงาน-สอบ ผจก.ไม่ให้ พนง.ลาไปงานศพแม่

กางไทม์ไลน์ คดี "ทักษิณ" กระทำผิด ม.112

"สุทิน" รอรายงานจับชาวกัมพูชาจ่อเคลื่อนไหวช่วง "ฮุน มาเนต" เยือนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง