นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ระบุว่า จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต โดย Digital 2023 Global Overview Report พบคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง ร้อยละ 85 สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ที่มีการเข้าถึงเพียงร้อยละ 64.4
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.
โดยกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด เป็น “เด็กและเยาวชน“ ซึ่งต่างเคยเห็น สื่อลามกอนาจารถึง ร้อยละ 54 และยังเป็นสื่อลามกอนาจารที่แสดง โดยเด็กถึงร้อยละ 60 และ ร้อยละ 26 พบปัญหา เด็กเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ และในปี 2566 หรือ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา พบ มีมิจฉาชีพโทรศัพท์ล่อลวง หรือ ล่อลวงทางโลกออนไลน์มากถึง 1.7 ล้านครั้ง กลุ่มเหยื่อเป็นเด็ก และผู้สูงอายุ
การป้องกันภัยในโลกออนไลน์ สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยต้องเริ่ม เอ๊ะๆ ฉุกคิดก่อนเสมอ ทั้งความเป็นจริงของ ถ้อยความที่ส่งมา ไม่กด ไม่แชร์ ข้อความดังกล่าว และควรสอบถามผู้รู้ เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
สำหรับแนวทางการแก้ไขและป้องกันดังกล่าวนั้น นางญาณี ระบุว่า เมื่อปี 2566 คณะรัฐมนตรี ได้ประกาศให้วันอังคาร สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ เป็น ”วันส่งเสริมอินเตอร์เน็ตปลอดภัย” พร้อมกันนี้ ยังเตรียมร่วมกับภาคี ผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้อินเตอร์
โดยเฉพาะเด็กเยาวชน ในมิติสุขภาพกายใจ ครอบคลุมตั้งแต่ การล่อลวงทางเพศ ,ไซเบอร์บูลลี่ , พนันออนไลน์ ,ซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการเห็นชอบจากกระทรวงยุติธรรม หากพิจารณาเสร็จสิ้น ก็จะนำมาแทรกในประมวลกฎหมายอาญา คาดว่า จะสามารถมีกฎหมาย และทำให้เกิดการบังคับใช้ได้ในปี 2568
ขณะที่ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บอกถึง ความยากลำบากในการจับกุมผู้กระทำความทางเทคโนโลยีว่า ทำได้ยาก เพราะไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่า พื้นไหน คือ พื้นที่ภัยอันตราย และไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
หากเป็นคดีอาชญากรรมปกติ สถานที่เสี่ยง อาจเป็นสถานที่อโคจร หรือ มืดเปลี่ยว แต่ในโลกออนไลน์ ต้องตระหนักชัดว่า ไม่มีพื้นที่ใดปลอดภัยอย่างแท้จริง
ส่วนคดีละเมิดทางเพศของเด็กผ่านออนไลน์ เกิดได้จากความไม่เท่าทันของเด็ก อาจโพสต์ หรือ ส่งรูปไปให้กับบุคคลอื่น และต้องยอมรับว่าเมื่อเกิด Digital footprint หรือ “ร่องรอยที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกระทำลงในโลกดิจิทัล” ยากที่จะลบเลือน
เมื่อเกิดเรื่องเด็กถูกข่มขู่ ไม่กล้าบอกใคร คดีในลักษณะนี้ ถ้าเจ้าตัวไม่เปิดเผยข้อมูลกับคนใกล้ชิด หรือ รอจนเรื่องบานปลาย จนทำร้ายตัวเอง แทบจะไม่มีใครรู้ได้เลย ส่วนใหญ่เด็กจะอับอายไม่พร้อมพูดคุย
ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าว ดีเอสไอ ไม่ใช่หน่วยงานแรกในการแก้ไขปัญหานี้ สิ่งสำคัญคือให้ความรู้เท่าทันเด็ก ผู้สูงอายุ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์ หรือแม้สื่อลามกอนาจรในโลกออนไลน์ ก็ไม่มีใครรู้มาก่อน รวมทั้งการหลอกขายสินค้าและบริการ
จากการติดตามคดีการล่อลวง ล่วงละเมิดในโลกออนไลน์พบเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยภัยออนไลน์ เริ่มปรับสูงมากขึ้นในช่วงโควิด มากถึงร้อยละ 70 เนื่องจากทุกกิจกรรมส่วนใหญ่ทำในออนไลน์
นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ขณะเดียวกันเครือข่ายดูแลด้านเด็กและเยาวชน นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แนะว่า การให้ความรู้กับเด็ก และผู้สูงอายุ ให้เท่ากันภัยไซเบอร์ เป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนควบคู่ คือ การดำเนินคดีกับผู้กระทำอย่างจริงจัง เนื่องจากกฎหมายยังมีช่องโหว่
โดยพบว่า เด็ก อายุ 12-17 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบออนไลน์ถึง ร้อยละ 9 จากจำนวนเด็ก 400,000 คน และมีเพียง ร้อยละ 1-3 เท่านั้น ที่มีการแจ้งความดำเนินคดี เบื้องต้นทราบว่า มีการเสนอกฎหมาย 3-4 ฉบับให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาครอบคลุม ประกอบด้วย
- ออนไลน์กรูมมิ่ง การหลอกล่วงให้เด็กไว้เนื้อเชื่อใจ และล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
- การข่มขู่รีดไถ่ทางออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ถูกหลอก หรือ ภาพหลุด
- ส่งข้อความทางเพศ มาทำให้เกิดความไม่สบายใจ
- การเข้าไปส่องติดตาม พฤติกรรมในโลกออนไลน์ เข้าข่ายการคุกคาม
- ไซเบอร์บูลลี่ หรือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เกิดขึ้นได้บนโซเชียลมีเดีย แอปแชท เกมออนไลน์ และข้อความทางโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลและพฤติกรรมการหลอกลวง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) รวบรวมไว้
โดยนาวาเอกหญิง ศิริเนตร รักษ์วงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สกมช. ระบุว่า สำหรับพฤติกรรมของมิจฉาชีพ ที่เข้ามาก่อเหตุในโลกออนไลน์ จากการขึ้นบัญชีร้องเรียน ล่าสุดพบ มีการหลอกลวงประชาชน ด้วยการส่งลิงค์เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือ แจ้งข้อความว่า "คุณได้รับเงินคืน ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า "
และให้กดลิ้งค์ เพื่อรับเงิน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือ "คุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล" หรือ "มีการแจ้งอายัติบัญชีธนาคาร" เรื่องเหล่านี้ จะป้องกันได้ด้วย การฉุกคิด หรือมีคำถาม "เอ๊ะ" ในใจ อย่ารีบกด
หรือ แม้ในปัจจุบันการซื้อสินค้า ก็สามารถตรวจสอบเลขบัญชีของผู้โอนได้ เพียงค้นชื่อ ผู้โอน หากเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ จะมีรายชื่อแจ้งว่าถูกขึ้นบัญชีดำ โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ ที่หมายเลข 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
ทุกครั้งที่ใช้อินเตอร์ หรือ พบเจอคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ ให้เอ๊ะ เอ๊ะ คำนี้เสมอ ฉุกคิด ไม่รีบกด อย่าโลภ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องหลงกลายเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
น.ส.เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดด้านความสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์พฤติกรรม ในมุมมองจิตแพทย์ ของความนิยมใช้สื่อออนไลน์ น.ส.เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดด้านความสัมพันธ์ เจ้าของเฟสบุ๊กแฟนเพจ Beautiful Madness by Mafuang และพอดแคส LIFE CRY SIS มองว่า สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ ชอบเข้าไปในโลกออนไลน์ เพราะทำให้ คนเราได้ทราบเรื่องราวของคนอื่น
และคิดว่า “เราไม่ต้องเผชิญเรื่องราวแย่ๆ อยู่คนเดียว”แม้แต่การนั่งฟังไลฟ์สด ก็ทำให้เราเหมือนมีเพื่อน แต่ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่า ในออนไลน์ มีทุก ๆความรู้สึก ทั้งด้านดีและลบ ดังนั้น อย่าเอาใจไปผูกกับโลกออนไลน์ ไม่มีคนไลฟ์ แสดงว่าเรื่องนี้ไม่ดี ไม่มีคุณค่า
ขอให้เน้น เรื่องการสังเกตตัวเองว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ของความสบายใจ ไม่ได้แย่มากเป็นพิเศษ เพื่อให้การท่องโลกออนไลน์ ไม่ทำให้ เกิดอารมณ์เศร้า หรือ อารมณ์ดิ่ง
ความไม่เท่าทันเทคโนโลยี กลายเป็นภัยใกล้ตัวที่น่ากลัวที่สุด หากทิ้งร่องรอย Digital footprint ไว้ในโลกออนไลน์ อย่างไม่เท่าทัน พลั้งเผลอ ไม่ว่าจะเป็นภาพลับ เลขบัญชี บัตรประชาชน สิ่งเหล่านี้ อาจย้อนกลับมาทำร้ายในภายหลัง และยากที่จะแก้ไข เพราะทุกสิ่งจะวนเวียนซ้ำ เป็นบาดแผลไม่ลืมเลือน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ข้อมูลผู้สูงอายุรั่วไหลเกือบ 20 ล้านชุด ถูกขายในเว็บใต้ดิน