ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลยกฟ้อง "เจ้าของดารุมะซูชิ" ชี้บริหารผิดพลาด ไม่เจตนาทุจริต

อาชญากรรม
15 ก.พ. 67
12:50
1,748
Logo Thai PBS
ศาลยกฟ้อง "เจ้าของดารุมะซูชิ" ชี้บริหารผิดพลาด ไม่เจตนาทุจริต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลอาญา ยกฟ้อง "บอนนี่" เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นดารุมะซูชิ กรณีขายคูปองบุฟเฟต์-แฟรนไชส์ ชี้เกิดจากบริหารผิดพลาด ไม่เจตนาทุจริตหลอกลวง

วันนี้ (15 ก.พ.2566) ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงประชาชน หมายเลขดำ 2311/ 65 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง และนายเมธา หรือบอนนี่ อายุ 41 ปี กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

อัยการโจทก์ ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า ระหว่างปี 2564-2565 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประกาศขายอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น โปรโมชันต่าง ๆ โดยโอนเงินผ่านบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ความจริงแล้วพวกจำเลยมิได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นดังกล่าว จนมีผู้เสียหาย 988 คนหลงเชื่อซื้อคูปอง เป็นความผิด 988 กรรม

นอกจากนี้ จำเลยยังหลอกลวงประกาศขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจร่วมลงทุนราคาตั้งแต่ 2,000,000-2,500,000 บาทต่อสาขา โดยมีผู้เสียหาย 11 คนหลงเชื่อชื้อแฟรนไชส์จากจำเลย เป็นความผิด 11 กรรม ขณะเดียวกันยังร่วมกันฟอกเงินโดยรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดจำนวนกว่า 150 ล้านบาท เข้าบัญชีธนาคารตัวเองเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ และเปิดขายแฟรนไชน์ให้ผู้สนใจร่วมลงทุน ต่อมาทางร้านได้ประกาศปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้ผู้ที่ซื้อคูปองไม่สามารถใช้บริการที่ร้านอาหารได้ จนเกิดความเสียหายจำนวนมาก

วินิจฉัยแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้เปิดร้านอาหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 และมีผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก ทำให้สามารถขยายกิจการได้อีกหลายสาขา และมีการขายคูปองทำโปรโมชัน และผู้ที่ใช้บริการก็ยังนำคูปองมาใช้บริการได้ตามปกติ จนกระทั่งเกิดการบริหารงานและการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 2 เอง ประกอบกับเกิดเหตุสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปลาแซลม่อน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักราคาสูงขึ้น ทำให้จำเลยที่ 2 ขาดสภาพคล่อง จึงบริหารกิจการต่อไปไม่ได้ มิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวง

อีกทั้งการขายแฟรนไชส์เป็นความพอใจระหว่างกัน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเจตนาทุจริตหลอกลวง ส่วนประเด็นร่วมกันฟอกเงินนั้น ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยที่ 2 ได้มีการโอนเงินบางส่วนให้กับแม่บุญธรรมเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อนสนิทแต่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ที่ยืมมา

นอกจากนี้ ยังโอนเงินไปบัญชีแห่งหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ก็เพียงเพื่อไว้ใช้ระหว่างอยู่ต่างประเทศเท่านั้น ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน พิพากษายกฟ้อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปคบ.ส่งสำนวน "คดีดารุมะ" ให้ อสส.รวมเสียหาย 42 ล้านบาท 

ตำรวจ ปคบ.ค้นบ้านเจ้าของ "ดารุมะ" หาหลักฐานเพิ่มคดีฉ้อโกง 

ฝากขังผู้บริหาร "ดารุมะ" ค้านประกันตัวห่วงหลบหนี 

รวบตัวแล้ว "เจ้าของดารุมะซูชิ" ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง