ถ้าเราตั้งคำถามได้ถูกต้อง ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เราได้คำตอบที่ถูกต้องตามมา
เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมใดๆ ขึ้นก็ตาม สิ่งที่สังคมนั้นๆ ต้องการรับรู้มากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น “ความจริง หรือ ข้อเท็จจริง” และผู้ที่มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ก็คือ กระบวนการยุติธรรม
แต่หากเป็นอาชญากรรมที่มี “เด็ก หรือ เยาวชน” เข้ามาเกี่ยวข้อง การแสวงหาข้อเท็จจริง ก็จะยากขึ้นไปอีกหลายเท่า เพราะเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ การตั้งคำถามกับเด็ก ไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีการเดียวกันกับผู้ใหญ่
เพื่อให้การแสวงหาข้อเท็จจริงจากคดีที่มีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการพัฒนาพื้นที่ห้องสอบสวน Child Friendly Justice” โดยการออกแบบ “ห้องสอบสวนเด็ก” ให้เป็นโครงการต้นแบบนำมาใช้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง คุ้มครอง แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ยังมีอายุไม่เกิน 18 ปี ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย พยาน หรือผู้กระทำความผิด
และเชื่อว่า กระบวนการสอบสวนที่เหมาะสมสำหรับเด็กเช่นนี้ จะนำไปสู่การแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากขึ้นตั้งแต่ “สาเหตุ” ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
หากเดินเข้าไปใน “ห้องสอบสวนเด็ก” ที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ในห้องที่เรียกว่า “ห้องถามปากคำ” ดูเผินๆ จะไม่ต่างจากห้องนั่งเล่นในบ้านของคนทั่วไป บรรยากาศสบาย ถูกตกแต่งด้วยสีและแสงที่ดูผ่อนคลาย มีเก้าอี้นิ่มๆ มีหมอน มีตุ๊กตาน่ารักๆ มีหนังสืออ่านเล่น ไม่เหมือนห้องสอบปากคำทั่วไปที่ใช้กับผู้ใหญ่
“เรารู้ได้ไปจนถึงว่า เขาเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่อไหร่ เริ่มดื่มเหล้าแก้วแรกที่ไหน กับใคร ซึ่งแน่นอนว่า เราก็จะได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กแต่ละคนต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับเหตุอาชญากรรมที่เรากำลังหาตำตอบ นี่คือสิ่งที่เราได้มาจากการสร้างห้องสอบสวนเด็ก”
วิกรม โกมลตรี อัยการจังหวัดภูเก็ต
วิกรม โกมลตรี อัยการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงประสิทธิภาพในการได้ข้อเท็จจริงที่มากขึ้นในคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็ก ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา หลังสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเริ่มใช้ห้องสอบสวนที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมสำหรับการสอบสวนเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบห้องที่มีบรรยากาศผ่อนคลายเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบเพื่อรองรับวิธีการสอบสวนให้เป็นมิตรกับเด็กและเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย
“ห้องถามปากคำ จะเป็นห้องที่เราออกแบบให้มีบรรยากาศผ่อนคลายมากที่สุด เพราะเราต้องการให้เด็กหรือเยาวชนที่ต้องเข้ามาถูกสอบสวนในห้องนี้ ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกเค้นข้อมูล หรือถูกบังคับให้เล่าเรื่องราวที่จะทำให้เขาเกิดบาดแผลทางจิตใจซ้ำๆ ออกมาอีก ดังนั้น คนที่มีสิทธิที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในห้องนี้กับเด็ก จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวน หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ในการตั้งคำถามกับเด็ก”
“ผู้ถาม จะนั่งอยู่อีกห้องหนึ่งที่เรียกว่า ห้องเจ้าหน้าที่ โดยเด็กที่ถูกซักถามไม่ว่าเขาจะเป็นผู้เสียหาย พยาน หรือผู้กระทำความผิด จะมองไม่เห็นคนถามและไม่ได้ยินคำถามที่มาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายเลย โดยคำถามต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านหูฟังมายังนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก นั่นหมายความว่า คำถามที่มาจากผู้บังคับใช้กฎหมายจะถูกกลั่นกรองผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำถามที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กตอบได้อย่างสบายใจ” อัยการจังหวัดภูเก็ต อธิบาย
และไม่ว่าเด็กที่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้เสียหาย พยาน หรือเป็นผู้กระทำความผิด สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมในมาตรฐานสากลจะต้องยึดไว้อยู่เสมอ คือ “หลักการคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ” จึงยังต้องระมัดระวังการให้เด็กต้องตอบคำถามเดิมซ้ำๆ หลายรอบในระหว่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่ละขั้นตอนด้วย เพราะอาจส่งผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกทำร้ายจากคนใกล้ตัว ดังนั้น นอกจากการที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเด็กมาเปลี่ยนคำถามให้เหมาะสมมากขึ้นแล้ว สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ยังออกแบบให้ห้องสอบสวนเด็กมีวิธีการบันทึกคำให้การผ่านวิดีโอโดยที่เด็กจะไม่เห็นกล้องที่กำลังทำงานอยู่ด้วย และวิดีโอนี้จะถือเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่มีน้ำหนักในชั้นศาล
“การถ่ายวิดีโอ ศาลใช้คำว่า สามารถรับฟังจากวิดีโอได้เพราะมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าการสอบสวนทั่วไปในรูปแบบปกติ ในกรณีที่เด็กตกเป็นผู้เสียหายและไม่ควรต้องให้เขามาเล่าเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจเขาซ้ำอีก หรือในกรณีมีเหตุจำเป็นที่เด็กไม่สามารถมาเป็นพยานในชั้นศาลได้ แต่หากเด็กที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังมีความต้องการให้การเพิ่มในชั้นศาล หรือหากผู้เสียหายจากคดียังต้องการให้ซักถามเพิ่ม ก็ยังคงสามารถใช้สิทธิซักถามในชั้นศาลได้เช่นเดิม แต่ทั้งนี้ ในวิธีพิจารณาศาลผู้พิจารณาคดียังสามารถสืบพยานเด็กในชั้นพิจารณาของศาลได้แต่ต้องถามพยานลักษณะเดียวกันนี้โดยแยกเด็กเป็นสัดส่วน อัยการ ทนายจำเลย ต้องถามผ่านนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อแปลงคำถามให้ไม่กระทบจิตใจเด็ก” อัยการจังหวัดภูเก็ต อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางการใช้บันทึกจากวิดีโอเป็นหลักฐาน
นอกจากการแยก “ห้องถามปากคำ” ออกจาก “ห้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย” ในโครงการพัฒนาพื้นที่ห้องสอบสวนสำหรับเด็ก ยังออกแบบ “ห้องชี้ตัว” ที่ผู้ถูกชี้ตัวจะไม่มองไม่เห็นตัวเด็กที่เป็นพยาน และยังมีห้องรับรองสำหรับญาติ ซึ่งมีลักษณะการออกแบบห้องให้ดูเหมือนเป็นห้องรับรองบุคคลทั่วไปด้วย
ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม คือ บทพิสูจน์สำคัญที่จะบ่งชี้ว่า การลงทุนเพื่อสร้าง “ห้องสอบสวนเด็ก” มีความคุ้มค่าเพียงพอที่จะขยายผลนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ด้วยหรือไม่ อัยการวิกรม ระบุว่า การสอบสวนผ่านห้องสอบสวนเด็กตลอดช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทุกคดี เพราะได้ข้อเท็จจริงในคดีจากเด็กมากขึ้นจากแนวทางการสอบสวนแบบเดิม และโครงการนี้ก็ถูกนำไปใช้ในหลายจังหวัดแล้ว
“ในคดีที่เด็กเป็นผู้เสียหายโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำ การสอบสวนโดยการกลั่นกรองคำถามผ่านนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ทำให้เราได้ข้อเท็จจริงมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะการตั้งคำถามที่เป็นมิตรผ่านความเข้าใจทางจิตวิทยา ทำให้เด็กมีความหวาดกลัวผู้ใหญ่ที่มากระทำกับเขาลดลง ไม่กลัวถูกทำร้ายซ้ำ จึงกล้าให้ข้อมูลมากขึ้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เอาผิดผู้กระทำได้ทั้งหมด ในแบบที่ทนายความของฝ่ายตรงข้ามไม่มีประเด็นมาต่อสู้ด้วยซ้ำ”
“และเมื่อเราใช้ห้องสอบสวนเด็กกับกรณีที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิด ยิ่งทำให้เราได้ผลที่น่าพอใจมาก เพราะผู้เชี่ยวชาญในการตั้งคำถาม สามารถทำให้เราได้คำตอบไปถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กเหล่านั้นกลายมาเป็นผู้กระทำความผิด เช่น รู้ว่าเขาถูกหลอกให้ไปส่งของแต่กลายเป็นตัวกลางในขบวนการค้ายาเสพติด รู้ว่าเขาเป็นเด็กที่เคยถูกกระทำรุนแรงมาก่อน รู้ว่าเขามีปัญหาในครอบครัว ถูกทอดทิ้งจนต้องมารวมกลุ่มกับเพื่อนและพัฒนากลายเป็นคนทำผิด หรือรู้ว่าเขาอาจถูกบีบคั้นจากผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังให้กลายเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเราจะไม่มีทางได้ข้อเท็จจริงเช่นนี้เลย ถ้าใช้กระบวนการสอบสวนแบบเดิม เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีทั้งความกลัวเจ้าหน้าที่ ไม่ไว้ใจที่จะเปิดเผยข้อมูลความจริง หรือแม้แต่กลัวว่าเปิดเผยไปแล้วจะถูกทำร้ายจากคนที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง”
“การตั้งคำถามผ่านองค์ความรู้ทางจิตวิทยาเด็กอย่างเป็นระบบ มีรูปแบบตามหลักวิชาการ ลงรายละเอียดอย่างถูกต้อง ทำให้เรารู้ได้ไปจนถึงว่า เด็กที่กลายเป็นผู้กระทำผิด เขาเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่อไหร่ เริ่มดื่มเหล้าแก้วแรกที่ไหน กับใคร ซึ่งยังทำให้เราได้รู้ด้วยว่าจริงๆ แล้ว เขามีความสนใจหรือความถนัดในด้านอื่นๆ ที่ไม่เคยถูกนำมาวัดความสำเร็จ เช่น ชอบเล่นกีฬา ชอบดนตรี ชอบเต้น แต่อาจไม่มีเวทีให้แสดงความสามารถในโรงเรียนหรือชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ เมื่อรู้เช่นนี้ก็ทำให้เราสามารถออกแบบวิธีการแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ได้ เราก็มีโอกาสที่จะนำเขากลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพได้” อัยการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกๆ ด้าน
อัยการจังหวัดภูเก็ต ยังอธิบายถึงสาเหตุที่โครงการพัฒนาพื้นที่ห้องสอบสวนสำหรับเด็ก หรือ Child Friendly Justice ถูกนำมาใช้ที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก โดยยืนยันว่า จังหวัดภูเก็ตไม่ได้มีสถิติการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กสูงกว่าพื้นที่อื่น แต่การเริ่มโครงการที่นี่เป็นเพราะภูเก็ตมีชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามาท่องเที่ยว และเมื่อมีเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กเกิดขึ้น ก็มักจะถูกตั้งคำถามถึงแนวทางการสอบสวนเด็กว่าควรเป็นไปตามมาตรฐานสากล
“ห้องสอบสวนเด็ก ทำให้เราสามารถตั้งคำถามกับเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ดีขึ้นมาก ผลที่ตามมาก็คือ เราได้คำตอบที่ถูกต้องที่จะนำไปสู่การแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาเด็กๆ ของเราได้มากขึ้น มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่การลงโทษเท่านั้น ซึ่งการใช้วิธีการแบบเดิม อาจทำให้เราไม่สามารถช่วยเด็กๆ ของเราได้เลย เพราะเราไม่เคยรู้จริงๆ ว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรอยู่” อัยการวิกรม กล่าวทิ้งท้าย
รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา