ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน ผอม-ตาบอด เร่งฟื้นฟู 3 เดือน

สิ่งแวดล้อม
20 ก.พ. 67
17:15
768
Logo Thai PBS
“บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน ผอม-ตาบอด เร่งฟื้นฟู 3 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์อัปเดตอาการ “บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน ตัวเมียอายุ 2 ปี หลังจับมาดูแลฟื้นฟูในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบสภาพผอม ตาซ้ายบอด มีแผลที่กระจกตา-อุ้งเท้า เร่งฟื้นฟูให้แข็งก่อนหาสถานที่เหมาะสมปล่อยคืนป่าภายใน 3 เดือน

ความคืบหน้ากรณีทีมนักวิจัยและเจ้าหน้าที่จับ “บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลานออกนอกพื้นที่ และพบบริเวณบ้านกระเหรี่ยงน้ำตก หมู่ที่ 18 ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

วันนี้ (20 ก.พ.2567) สพ.ญ.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากจับเสือตัวดังกล่าวได้เมื่อเวลา 21.00 น.วานนี้ (19 ก.พ.) และส่งไปดูแลฟื้นฟูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

สพ.ญ.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เสือโคร่งดังกล่าวเป็นตัวเมีย อายุ 2 ปี มีสภาพร่างกายผอม น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ตาข้างซ้ายบอด มีลักษณะขาวปูด มีแผลบริเวณกระจกตา แผลที่อุ้งเท้า เหงือกค่อนข้างซีด เมื่อวานนี้ได้ให้ยาป้ายตาและฉีดยาปฏิชีวนะแบบออกฤทธิ์นาน รวมทั้งให้วิตามิน และยาถ่ายพยาธิ โดยจะให้ผู้เลี้ยงเฝ้าดูอาการเสือโคร่งว่าอาการตาอักเสบดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการน่ากังวลทีมสัตวแพทย์จะเข้าไปดูแลรักษาทันที

ตาที่บอดน่าจะเป็นมานานแล้ว แต่แผลกระจกตาน่าจะเกิดใหม่ เพราะมองไม่เห็นและไปชนหรือเกี่ยวกับอะไร

เมื่อย้ายมาอยู่ในกรงเลี้ยงเพื่อฟื้นฟูร่างกาย พบว่า เสือโคร่งเดินไปมาในกรงเลี้ยง น่าจะมีความเครียดอยู่บ้าง โดยจะให้อาหารในช่วงเย็นวันนี้ เป็นโครงไก่ เนื้อหมู่ เนื้อไก่ น้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ตั้งเป้าเพิ่มน้ำหนักให้ได้ 100 กิโลกรัม ซึ่งจะดูแลแบบเว้นระยะห่างจากคน เพราะไม่อยากให้เกิดความเครียด และต้องใช้เวลาปรับตัวกับสถานที่ใหม่

สพ.ญ.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เมื่อฟื้นฟูเสือโคร่งตัวดังกล่าวแข็งแรงขึ้น ได้วางแผนปล่อยในธรรมชาติภายใน 3 เดือน โดยจะหาสถานที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและอาจติดปลอกคอติดตามพฤติกรรมด้วย

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

4 วันภารกิจจับ "เสือโคร่ง" ฟื้นฟูร่างกายก่อนปล่อยคืนป่า

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุเสือโคร่งออกนอกพื้นที่ โดยทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ WWF ประเทศไทย เข้าพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ และอาการของเสือโคร่ง รวมทั้งจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน 60 คน เฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์พื้นที่ตลอดเวลา

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้วางแผนค้นหาเสือโดยสำรวจพื้นที่แบบหน้ากระดาน พบเสือโคร่งเฝ้าซากเหยื่ออยู่ห่างจากบ้านของชาวบ้านเป็นเสือโคร่งวัยรุ่น ร่างกายผอม ไม่มีแรง จึงวางกำลังโอบล้อมในพื้นที่ โดยนายสัตวแพทย์เตรียมความพร้อมยิงยาสลบ แต่จุดที่เสือโคร่งอยู่มีสภาพป่ารก จึงไม่สามารถปฏิบัติการได้ กระทั่งเสือกระโจนฝ่าแนววงล้อมของเจ้าหน้าที่ออกไป

กระทั่งเวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 ก.พ.2567 ชุดปฏิบัติการได้จับตัวเสือโคร่งด้วยการใช้ห่วงดักขาและยิงยาสลบได้สำเร็จ จึงนำไปฟื้นฟูร่างกายที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำหรับเสือโคร่งตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า “บะลาโกล” เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยภาษากะเหรี่ยง แปลว่า "คลองลาน"

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดกล้องดัก "เสือโคร่ง" ห่วงย้อนกินเหยื่อ-รอยตีนมุ่งป่าคลองลาน 

เร่งจับ "เสือโคร่ง" โผล่ชิลกลางหมู่บ้าน-ไม่ปิดเที่ยวคลองลาน 

จับได้แล้ว "เสือโคร่ง" ที่คลองลาน จนท.อุทยานฯ ดูแลฟื้นฟู 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง