วันนี้ (21 ก.พ.2567) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.ศ...ที่นายยูนัยดี วาบา กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับประกอบด้วย ฉบับที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ และฉบับที่ นายรอมฎอน ปันจอร์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
นายปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า คำสั่ง คสช. ยังแก้ปัญหาไม่ได้ดีเท่าที่ควร และเสนอว่าให้ใช้แนวคิดในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และเพิ่มสัดส่วนตัวแทนของประชาชน เข้าไปในสภาที่ปรึกษาฯ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัด ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ให้เป็นทั้งแหล่งประมงและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้
รทสช.-ภูมิใจไทย หนุนยกคำสั่งคสช.
นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุน เน้นย้ำถึงบทบาทของ ศอ.บต.และกอ.รมน.ที่คนจังหวัดอื่นอิจฉา เพราะงบมักจะลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตนเองพูดในฐานะคนในพื้นที่ อยากให้เป็นเหมือนจังหวัดอื่นๆ ไม่ได้ต้องการหน่วยงานพิเศษ งบประมาณหลายแสนล้านบาทที่เข้ามา ไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นเลย การช่วยเหลือเยียวยาคนในพื้นที่ คนจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ต้องการอะไรพิเศษกว่าคนจังหวัดอื่น
ด้วยคำสั่ง คสช.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ไม่ได้มีความเข้า ใจในพื้นที่ จึงเห็นควรว่าควรยกเลิกคำสั่ง และ กอ.รมน.ที่เป็นทหาร ก็ควรดูแลด้านความมั่นคง ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงควรเลือกคนให้ถูกกับงาน
นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายสนับสนุนการยกเลิกคำสั่ง คสช. แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ที่สุด ควรยกเลิกถึง 3 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชาติได้ยื่นเข้าไปแล้ว เพื่อให้แก้ปัญหาอย่างครบวงจร และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนมาดูแลงบประมาณของ ศอ.บต. และกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหารัฐบาลที่ผ่านมา
งบศอ.บต.ช่วง 20 ปี รัฐบาลผลักดันงบไปกว่า 500,000 ล้านบาท มีอะไรดีขึ้น แถมประชาชนกลับถูกปิดปาก อยากฝากให้คณะทำงาน พิจารณายกเลิกคำสั่ง และให้ ศอ.บต. เป็นแม่งานในการพิจารณา ไม่ใช่ให้ทหารนำการพัฒนา
"จาตุรนต์" ชี้ก้าวแรกแก้กฎหมายพิเศษ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อภิปรายว่า คำสั่งของคณะ คสช. 14/2559 อ้างว่าภายใต้ พ.ร.บ.บริหารจัดการชายแดนภาคใต้ สภาที่ปรึกษาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการคืองดใช้ทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษา และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ทำหน้าที่แทน
นอกจากนี้ให้เลขาธิการศอ.บต.รับฟังข้อคิดเห็นจากเลขาฯ กอ.รมน. ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า กอ.รมน.กำลังมีบทบาทมากขึ้น และสุดท้าย ให้ กอ.รมน.มีบทบาทปกป้องและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งที่จริงแล้วต้องเป็นฝ่ายพลเรือน
นายจาตุรนต์ ตั้งคำถามว่า ทำไม คสช.หวั่นไหวต่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการชายแดนภาคใต้ และสภาที่ปรึกษามีบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น เพราะสภานี้มีอำนาจหน้าที่เชื่อมโยงกับประชาชน ฝ่ายกฎหมาย และเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพ ศอ.บต.มีหน้าที่ด้านสันติภาพและสภาที่ปรึกษาก็มีหน้าที่เชื่อมโยง
มติรับหลักการยกเลิกคำสั่งคสช. 3 ฉบับ
นอกจากนี้ มีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และกฎอัยการศึก จะเห็นได้ว่าโดยองค์กรและกฎหมาย กองทัพมีบทบาทเป็นหลักกดทับ
วันนี้ถ้ายกเลิกคำสั่ง คสช. จะเป็นก้าวสำคัญในการระดมความคิดจากประชาชนให้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ และมาคิดกันว่าเราจะออกแบบระบบกฎหมายอย่างไร ทำให้เกิดความสงบต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามี สส.จากพรรคพลังประชารัฐ ร่วมอภิปรายในญัตติดังกล่าว ท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติรับหลักการของร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 421 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 421 คน และเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 31 คน