ความรู้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics) ศาสตร์ที่ศึกษาอิทธิพลของลักษณะทางพันธุกรรมต่อการตอบสนองของยา กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรักษาพยาบาลในอนาคต เพราะผู้ป่วย 1 คน ไม่จำเป็นต้องใช้ ยา และปริมาณยา ในขาดที่เท่านั้น การตอบสนองของแต่ละคนล้วนแตกต่าง
ด้วยแนวความคิดดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันคิดค้นแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเชื่อมข้อมูลทางพันธุกรรม ให้แพทย์ได้ทราบ และใช้เป็นแนวทางการรักษา
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒฺ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจยีนแพ้ยาในคนไทย ครอบคลุมในสิทธิประโยชน์การรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพ
หากแพทย์เกิดความสงสัย สามารถสั่งให้มีการตรวจหายีน เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีการแพ้ต่อยา หรือไม่ ซึ่งอัตราการ พบยีนแพ้ยาในคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 หรือประมาณ 9.7 ล้านคน และพบในผู้ป่วย 42,000 – 100,000 คน
การตรวจยีนก่อนให้ยา จะช่วยลดอาการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง การแพ้ยา ลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 และช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากอาการแพ้ยารุนแรงของประเทศ ได้มากกว่า 250 ล้านบาทต่อปี
การตรวจหายีนการแพ้ยา ทำเพียงครั้งเดียว โดยใช้เลือดเพียง 2 หลอด ก็สามารถทราบข้อมูลตลอดชีวิต ว่ามีการแพ้ยาใน 4 กลุ่ม หรือไม่ ได้แก่
- การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดกรดยูริค อัลโลพูรินอล (Allopurinol) หรือ ยารักษาโรคเกาต์
- การตรวจยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
- การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี อะบาคาเวียร์ (Abacavir)
- การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
หลังจากนั้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อกับ แพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” ซึ่งประชาชนสามารถโหลดข้อมูลลงในโทรศัพท์มือถือได้ ทั้งแบบสมาร์ทโฟนและระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android)
วิธีการ คือ การลงทะเบียน ยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนออนไลน์ ThaiD ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจของตนเองได้ และแพทย์ เภสัชกร ก็สามารถนำข้อมูลดังกล่่าวไปใช้ในการรักษาได้ทันที ปัจจุบันระบบได้เชื่อมต่อกับสถานพยาบาลแล้วรวม 11 แห่ง
การที่ร่างกายไม่สามารถย่อยยาได้ มีผลทำให้เกิดตับอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตายจากโรค แต่ตายจากการดื้อยา ดังนั้นการทราบว่า ร่างกายมีการแพ้ยาอะไร หรือ ดื้อต่อยาตัวไหน มีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในอดีตที่ เคยมีผู้ป่วยแพ้ยาอย่างรุนแรงจนตาบอด
ด้าน รศ.ดร.ภก.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์ เน้น ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้เพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยงอาการไม่พึ่งประสงค์ การแพ้ยา และใช้ป้องกันการแพ้ยา ,สามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ใช่ทุกคนต้องได้รับยาขนาดเดียวกัน ชนิดเดียวกัน
การตรวจยีนย่อยยาจะทำให้รู้ว่า แต่ละคนมีการย่อยสลายยาในปริมาณเท่าใด ,กำหนดและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะการรักษาโรคจำเป็นต้องพึ่งยา หากในกรณี ผู้ป่วยเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเกิดอาการเจ็บป่วยแพทย์ เภสัชกร ก็จะทราบข้อมูลการแพ้ยาทันที แต่สิ่งสำคัญ คือ ทุกข้อมูลต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดกฎหมาย PDPA
เภสัชพันธุศาสตร์ เป็นแนวทางการรักษาโรคในอนาคต และจะเห็นว่า ยีนแพ้ยาในคนไทย ที่พบในคนเชื้อชาติไทย มีอยู่ในยีน HLA-B*58:01 ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคเกาต์ ลดกรดยูริค และ ยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีปีน เพราะการตอบสนองต่อยาในแต่ละเชื้อชาติล้วนแตกต่างกัน
สำหรับการใช้งาน “ผูกพันธุ์” ผู้ที่ใช้งานต้องกรอกรายละเอียดส่วนบุคคล และทำการยืนยันตัวตนในขั้นตอนสมัครใช้งานระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในข้อมูลของผู้ป่วย และแพทย์และเภสัชกร สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจจากการค้นหาข้อมูลด้วยเลขบัตรประชาชนหรือชื่อและนามสกุล โดยต้องส่งคำขอเข้าถึงข้อมูลไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของก่อนถึงจะสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้
อ่านข่าวที่เกี่่ยวข้อง :
สธ.เปิดโอกาสป.ตรีทุกสาขา เรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ปัญหาขาดแคลน