(23 ก.พ.67) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในโอกาสเดินทางมาเยือนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประชุมติดตามเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ได้แถลงเรื่อง 8 วิสัยทัศน์ของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งหลายข้อเกี่ยวข้องกับทางกรุงเทพมหานคร แม้จะพยายามกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดต่าง ๆ แต่กรุงเทพมหานครก็ยังเปรียบเสมือนประเทศไทยขนาดเล็ก วันนี้ดีใจที่ได้มาเยือนกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก และได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ ตลอดจนแผนงานของกรุงเทพมหานคร ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งนโยบายหลายเรื่องก็ขับเคลื่อนไปกับวิสัยทัศน์ของไทยและนโยบายของรัฐบาล
นายเศรษฐา กล่าวถึงประเด็นที่ฝากถึงนายชัชชาติ คือ การสื่อสารให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนทราบและได้รับประโยชน์จากผลงานต่าง ๆ เพราะ กทม.มีผลงานที่ดีหลายโครงการ นอกจากนี้ รัฐบาลและ กทม.จะทำงานร่วมกันยิ่งขึ้น พร้อมนำนโยบายจาก กทม.ไปขยายผลต่อ เช่น การขอความร่วมมือ Work from Home (WFH) ใน กทม.ทำให้รถยนต์น้อยลง 8-9% หากมีการประสานที่ดี รัฐบาลก็พร้อมประกาศเช่นกัน อาจให้หน่วยงานราชการ WFH สอดรับกันไป
"ท่านผู้ว่าฯ มาได้เกือบ 2 ปีแล้ว ทำอะไรดี ๆ ไว้หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ จนไปถึงเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง-ไส้กรอง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อลด PM2.5 จากภาคการจราจร รวมทั้งมีการออกนโยบายนำรถอัดฟางมาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เช่น เขตหนองจอก เพื่อลดการเผา"
สำหรับปัญหาฝุ่นใน กทม.ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการใช้รถประมาณ 50% จึงต้องการจูงใจให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการย้ายท่าเรือคลองเตยที่เสนอมา ทางรัฐบาลต้องหารือท่าเรือฯ ว่าต้องการย้ายหรือไม่ หากไม่ย้ายก็ยังมีการบรรทุกของต่าง ๆ ผ่านเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหา PM2.5
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ กทม.ซึ่งต้องเร่งรัดแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะมีการทำรูปแบบหลากหลาย เช่น ทำเป็นกล่องนม ดึงดูดกลุ่มเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ขณะที่ศุลกากรจะเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า
ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ต้องวิเคราะห์ให้ได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้น เช่น การตรวจไซต์งานก่อสร้าง และได้หารือกับกรมการขนส่งทางบก วางแผนระยะยาวในการลดจำนวนรถยนต์เก่า แต่ต้องออกเป็นรูปแบบกฎหมาย และค่อย ๆ พัฒนาอย่างรอบคอบ
“เรื่องท่าเรือคลองเตยอยู่ในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 ต้องทบทวนกันว่าเวิร์กหรือไม่อย่างไร แต่เห็นตัวอย่างจากทั่วโลก เช่น ลอนดอน ท่าเรือที่อยู่ในเมืองเขาย้ายออกข้างนอกหมด ซึ่งจะมีผลในการควบคุมน้ำทะเลที่หนุนสูงด้วย หากท่าเรือยังมีเรือใหญ่เข้า-ออกแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตลอด เราจะควบคุมได้อย่างไร ก็คงมีหลายปัจจัย ซึ่งนายกฯ คงให้ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง”
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงปัญหาการจราจรใน กทม. ว่า หัวใจของการแก้รถติดไม่ใช่การทำถนนเพิ่ม แต่หัวใจคือการทำขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลได้ทำเส้นเลือดใหญ่จำนวนมากแล้ว มีรถไฟฟ้าต่าง ๆ สายสีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีม่วงใต้ ซึ่งเป็นการทำต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล แต่ปัญหาคือ ระบบ Feeder ที่จะทำให้คนออกจากบ้านมาถึงรถไฟฟ้าได้
ทาง กทม.พยายามดำเนินการอยู่ โดยทำทางเดินเท้าเพื่อให้คนสามารถเดินสะดวก ภายใน 4 ปี ตั้งเป้าทำทางเดินเท้าให้ดีขึ้นอย่างน้อย 1,700 กิโลเมตร เชื่อมโยงระบบการเดินทางจากบ้าน รถในซอย รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนโครงสร้างหลัก เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมทั้งระเบียบวินัยจราจร โดย กทม.นำเทคโนโลยีมาใช้ปรับเรื่องไฟจราจร (ไฟเขียว-ไฟแดง) ให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้เป็นต้นไป