วันนี้ (24 ก.พ.2567) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2566 โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2561 และเพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 90.5 ต่อประชากรแสนคน
พบอัตราป่วยโรคหนองใน ในกลุ่มเยาวชน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2565 จากอัตราป่วย 41.9 เพิ่มเป็น 86.6 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า
ข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียงร้อยละ 80 และใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งกับแฟน คนรักไม่ถึงร้อยละ 40
อ่านข่าว: สังเกต 6 พฤติกรรมเด็กหลังเผชิญเหตุรุนแรง ป้องกันบาดแผลฝังลึกทางใจ
สอดคล้องกับพฤติกรรมและค่านิยมของกลุ่มเยาวชนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์แบบคืนเดียว (One night stand) โดยไม่ตระหนักถึงการป้องกันและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
แม้การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ห้ามกันได้ยาก แต่สามารถป้องกันโรคที่ติดมาจากเพศสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง กับทุกคน ทุกช่องทาง
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ทุกคนควรประเมินตนเองและคู่ หากพบว่า มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะเป็นแผลเดียว แผลสะอาดไม่เจ็บ บริเวณก้นแผลแข็งคล้ายกระดุม แผลหายเองได้ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นแดง พบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะนูน มีสะเก็ด ไม่คัน เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส และรับการรักษาโดยเร็ว
โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่รักษาหาย พร้อมชวนคู่มาตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
อ่านข่าว : แอปฯ "ผูกพันธุ์" ชี้ข้อมูล "ยีนแพ้ยา" ช่วยรักษาแบบพุ่งเป้า
เพราะโรคซิฟิลิสเป็นโรคที่รักษาหาย พร้อมชวนคู่มาตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ส่วน โรคหนองใน มักจะมีอาการแสดงในเพศชายที่มีการติดเชื้อบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ และจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน ซึ่งอาการที่พบในเพศชาย คือ ปัสสาวะแสบขัด ปวดและบวมที่ลูกอัณฑะ มีหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
สำหรับการติดเชื้อที่อวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ทวารหนัก ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่หากมีอาการของการติดเชื้อที่อวัยวะเพศหญิง จะทำให้ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย หรือเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ มีตกขาว เป็นมูกหนอง หากปล่อยทิ้งไว้เชื้ออาจลุกลามไปถึงมดลูกและปีกมดลูก เสี่ยงภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
อย่างไรก็ตาม หากมีความเสี่ยง แนะนำให้รีบมาตรวจ เพื่อจะทำการรักษาทันทีเพราะรักษาให้หายขาด แต่มีโอกาสกลับมาเป็นได้ซ้ำหากมีความเสี่ยงเช่นเดิม