ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ่อชง ครม.เห็นชอบ "ชุดไทยพระราชนิยม" ดันขึ้นทะเบียนยูเนสโก

สังคม
28 ก.พ. 67
10:50
8,958
Logo Thai PBS
จ่อชง ครม.เห็นชอบ "ชุดไทยพระราชนิยม" ดันขึ้นทะเบียนยูเนสโก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เสริมศักดิ์" เตรียมเสนอ "ชุดไทยพระราชนิยม" ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ก่อนส่งข้อมูลให้ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.2567) ว่า เนื่องในปีมหามงคล ครบ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ทรงดีไซน์ลายผ้าวชิรภักดิ์ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ เป็นเสื้อผ้าให้ทางรัฐบาลช่วยกันนำไปโปรโมท และจะมีการตัดเสื้อผ้าใส่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำเรื่องของชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อ UNESCO  

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลชุดไทยฯ ที่เตรียมนำเสนอต่อยูเนสโกมีความพร้อมแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อน และทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการส่งข้อมูลตามเอกสารที่ยูเนสโกกำหนด ให้ทันภายในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นยูเนสโกจะนำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ประเทศต่าง ๆ นำเสนอ เข้าสู่วาระการพิจารณาตามลำดับต่อไป

ในส่วนของไทย ปลายปี 2567 จะมีรายการต้มยำกุ้ง และเคบายา เข้ารับการพิจารณา และในลำดับถัดไปจะเป็นรายการชุดไทยพระราชนิยม มวยไทย และประเพณีลอยกระทง ตามลำดับ

ไทยประกาศขึ้นบัญชี ชุดไทยพระราชนิยม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ระดับชาติ) เมื่อ พ.ศ.2566

ชุดไทยพระราชนิยม เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในลักษณะแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือ และการพิจารณานำชุดไทยไปใช้สวมใส่ตามโอกาส ถือเป็นแนวปฏิบัติการแต่งกายของสตรีไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และได้จัดทำข้อมูลรองรับการเตรียมเสนอต่อยูเนสโก ภายใต้ชื่อชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume)

ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ข้อมูลถึงความสำคัญของชุดไทย ว่า เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยปรากฏหลักฐานรูปแบบการนุ่งและการห่มมากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอด

ในปี 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ เพื่อให้ประชาชนใช้ในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบันคนไทยนิยมสวมใส่ชุดไทยทั้ง 8 แบบในวิถีชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา งานพิธีการสำคัญในชีวิต

การสวมใส่ชุดไทยของคนไทย แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการการนุ่งห่มของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ และมีคุณค่าที่ควรตระหนักถึงความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ดังนี้

  • ด้านงานช่างฝีมือ แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่าง และหัตถศิลป์การทอผ้า การสร้างสรรค์ลวดลาย การออกแบบและตัดเย็บ รวมถึงการปักประดับด้วยเทคนิคต่าง ๆ อันวิจิตรบรรจง ส่งต่อให้ผู้สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจ
  • ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม และความรู้ความเข้าใจในการนำชุดไทยไปสวมใส่ให้เหมาะสมกับโอกาส แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน บ่งบอกถึงความผูกพันของครอบครัว ชุมชนและสังคม การสวมใส่ชุดไทยช่วยเสริมบุคลิกภาพของสตรีไทยให้ดูสง่างามในความเป็นไทย ใช้ในโอกาสที่เหมาะสมทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
  • ส่งเสริมกระบวนการทางความคิด มีการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งให้ความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และย้ำเตือนให้ผู้คนในปัจจุบัน ได้ตระหนักถึงรากเหง้าวัฒนธรรมคุณค่าฝีมือช่างคนไทยที่สืบทอดวิชาการออกแบบตัดเย็บสิ่งทอ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้สร้างสรรค์แฟชั่นของคนรุ่นใหม่ โดยนำผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น มาออกแบบตัดเย็บเป็นชุดไทยทั้งแบบอนุรักษ์และสร้างสรรค์
  • ด้านเศรษฐกิจ การสวมใส่ชุดไทยของผู้คนมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้หมุนเวียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ชุดไทยสามารถสวมใส่และศึกษาเรียนรู้ได้ในคนทุกกลุ่ม ทั้งในครอบครัว ชุมชน การศึกษาในระบบ นอกระบบ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย และอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เป็นซอฟท์พาวเวอร์ ที่สร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง