เทเลอร์ สวิฟต์ ไม่ได้เป็นเพียงชื่อที่ถูกพูดถึงกันในวงการดนตรีทั่วโลกเท่านั้น แต่อิทธิพลความดังของเธอยังส่งผลไปยังวงการอื่นๆ อีกมาก
"Swiftonomics" คือชื่อเรียกระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยเหล่า Swifty สาวกผู้ชื่นชอบในผลงาน และ ทัศนคติการใช้ชีวิตของนักร้องสาววัย 34 ปี เจ้าของ 12 รางวัลแกรมมีอะวอร์ด ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทัวร์คอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิตฟ์ ในแต่ละครั้ง สร้างแรงสะพัดทางการเงินถึงหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไม่ได้หมุนเวียนเฉพาะในประเทศที่เธอจัดการแสดง แต่ประเทศรอบข้างต่างถูกกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยเช่นกัน
"Swiftology" ไม่ได้เป็นชื่อวิชาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นชื่อที่ผสมผสานถึงการนำตัวตนของสวิฟต์เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่ได้ใช้นำเอาความสามารถและเสน่ห์ของป๊อปสตาร์ผู้โด่งดังผู้นี้ ผนวกเข้ากับการเรียนการสอน เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาหลายพันคนลงทะเบียนเข้าเรียน แต่มันก็สำเร็จ! เพราะทุกเก้าอี้เลกเชอร์และทุกทางเดินในห้องเรียนนั้น เต็มไปด้วยนักศึกษาที่เข้ามาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จของ "เทย์เลอร์ สวิฟต์"
แม้แหล่งความรู้คือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ แต่ในวิชาต่างๆ กลับถูกแบ่งออกไปได้มากมาย เช่น ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ การโรงแรม การท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ วารสารศาสตร์ กวีนิพนธ์ วรรณกรรม อังกฤษ กฎหมายลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า เพศศึกษา และจิตวิทยา
เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขณะแสดงคอนเสิร์ต The Eras Tour
เมื่อเพลงไม่ได้มีไว้ "แค่" ฟัง
ในปี 2022 สถาบันไคลฟ์ เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเป็นสถาบันแรกที่เปิดสอนวิชา Taylor Swift วิชานี้มีผู้บรรยายคือ บริตตานี สปาโนส นักข่าว-นักเขียนอาวุโสจาก "โรลลิง สโตน" สำนักข่าวที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับดนตรี การเมือง วัฒนธรรมสมัยนิยม และเธอยังเป็นสวิฟตี้ตัวยงอีกด้วย
วิชานี้พูดถึง วิวัฒนาการของสวิฟต์ในฐานะผู้ประกอบการด้านดนตรีเชิงสร้างสรรค์ มรดกของนักแต่งเพลงแนวป๊อปคันทรี วาทกรรมเกี่ยวกับเยาวชนและเด็กผู้หญิง และการเมืองในแวดวงดนตรี หลักสูตรนี้มีผู้ให้ความสนใจต้องต่อคิวเข้าลงทะเบียนยาวมาก เพราะมีคำโฆษณาในวิชาว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของเธอด้วย (แม้สถานะคำขอยังอยู่ระหว่างการพิจารณาก็ตาม)
สปาโนสบอกว่า เธอรู้สึกดีใจที่เธอได้บรรยายในวิชานี้ เธออยากจะบอกว่าในเพลงของสวิฟต์แต่ละเพลงนั้น มีบางท่อนที่นักแต่งเพลงคนดังสื่อถึงเรื่องต่างๆ ที่ไม่ได้พูดถึงแต่ความหมายของเนื้อเพลงเพียงอย่างเดียว
เธอสื่อถึงการเมืองผ่านบทเพลง You Need to Calm Down ที่ในมิวสิกวิดีโอได้เหล่า LGBTQ มาร่วมแสดง และเพลง The Man ที่สื่อถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ
วิชา Swift ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ความสำเร็จของสถาบันไคลฟ์ เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้กระจายแรงบันดาลใจในแวดวงวิชาการ ให้แก่เหล่าอาจารย์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำอีกมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด, มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน, มหาวิทยาลัยฟลอริดา และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้สร้างหลักสูตรทั้งหมดที่เกี่ยวกับผู้ชนะรางวัลแกรมมี 12 สมัย
- "Taylor Swift and her world" คือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่เรียนเกี่ยวกับการใช้วาทศิลป์ บทกวี มาแต่งเพลง ที่ทำให้เทย์เลอร์ สวิตฟ์ สามารถก้าวขึ้นสู่ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21
- "The Taylor Swift Songbook" มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ประกาศว่านักศึกษาที่เข้าเรียนวิชานี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างในการแต่งเพลงของสวิฟต์ การเล่าเรื่องราวผ่านบทเพลงต่างๆ โดยวิชานี้ทางผู้สอนระบุว่า หวังว่าผู้เรียนจะเป็นสวิฟตี้ เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากการเรียนมากที่สุด ... ก็คือได้ A นั่นแหละ!
- "Musical Storytelling With Taylor Swift and Other Iconic Female Artists" มหาวิทยาลัยฟลอริดา เปิดหลักสูตรนี้เชิญชวนผู้เรียนด้วยระยะเวลา 13 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเลขนำโชคของสวิฟต์ ผู้สอนในวิชานี้เป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ แม้ตัวเธอจะไม่ใช่สวิฟตี้ แต่สิ่งที่นำมาสอนคือ การใช้ภาษาในบทเพลงผ่านประเด็นทางการเมือง อายุ หรือการถูกเลือกปฏิบัติ และยังศึกษาเกี่ยวกับนักแต่งเพลงเพศหญิงคนอื่นๆ อีกด้วย
- "Artistry & Entrepreneurship: Taylor’s Version" หลักสูตรที่หยิบยกเอาเรื่องของกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดของสวิฟต์ ผลกระทบทางวัฒนธรรม และความสำเร็จของ "Eras Tour" มาสอนในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอีกมากมายเปิดสอนในอีกหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ทั้งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา, วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี เป็นต้น
เทย์เลอร์ สวิฟต์ กล่าวสุนทรพจน์ในงานจบการศึกษาปริญญากิตติมศักดิ์ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
ลงทะเบียนเต็มเร็วพอๆ กับซื้อตั๋วคอนเสิร์ต
"ฟิลิปปินส์" กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดหลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์
สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในขณะที่ป๊อปไอคอนสาวกำลังทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียอยู่นั้น ทางมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ในกรุงมะนิลาก็เปิดหลักสูตรที่เรียนเกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปินหญิงชื่อดังก้องโลกต่อวัฒนธรรมป๊อปทั่วโลก และมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนแล้วกว่า 300 คนในเวลาไม่กี่นาทีหลังเปิดให้ลงทะเบียน จนทางมหาวิทยาลัยต้องเปิดจำนวนชั้นเรียนเพิ่ม
Cherish Aileen A. Brillon ผู้สอนวิชานี้ระบุในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ว่า อันที่จริงวิชานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสถาบันที่ศึกษาเกี่ยวกับคนดัง นี่เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาสื่อและวัฒนธรรมสมัยนิยม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางมหาวิทยาลัยได้นำเรื่องราวของศิลปินระดับโลกมาเป็นกรณีศึกษา และเชื่อว่าเป็นที่แรกของเอเชียด้วย
ความหลงใหลในศิลปินของชาวฟิลิปปินส์
อ่านข่าวอื่น :
รวบ อดีตที่ปรึกษา "แม่แตงโม" หนีหมายจับคดีฉ้อโกง
สอบพยานคดี "ลุงเปี๊ยก" แล้ว 7 คน อัยการ-DSI หารือเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย