วันนี้ (1 มี.ค.2567) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า ได้ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการกับคู่รักสามีภรรยาที่มีลูกยาก
เช่น การปรับแก้คุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภรรยาที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปีและไม่จำเป็นต้องผ่านการสมรส สามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้ และยกเลิกเพดานอายุของภรรยาที่จะให้ผู้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จากเดิมไม่เกิน 55 ปีเป็นมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
รวมทั้งผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง กรณีเข้ารับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากสถานพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดจำนวนเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเบิกค่ารักษาได้
รวมทั้งเดิมกฎหมายระบุว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายจะต้องเป็นคนไทย แต่อนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ รายมาตรา มีข้อเสนอให้ชาวต่างชาติที่เป็นคนต่างชาติทั้งคู่ เข้ามารับบริการทำอุ้มบุญในประเทศไทย ซึ่งผู้หญิงที่จะใช้อุ้มบุญ คู่สมรสสามารถพามาเองได้ หรือหากใช้ผู้หญิงไทยในการตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นไปตามกฎหมายและตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนกรณีคู่สมรสเพศเดียวกันต้องการทำอุ้มบุญ กฎหมายอุ้มบุญนี้รองรับ แต่ต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เราระบุว่าเป็นสามีและภรรยา ถ้าในการทำทะเบียนสมรสใช้คำว่าสามีและภรรยา ก็สามารถทำเรื่องอุ้มบุญได้ ไม่ขัดข้อง ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้คำว่าสามีและภรรยา เพราะฉะนั้นถ้าสมรสเท่าเทียมออกมาและเขาจดทะเบียนได้สามีและภรรยา ก็นำทะเบียนสมรสมาขอทำเรื่องอุ้มบุญได้
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ขณะที่ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. ระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้สำเร็จ จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาทำอุ้มบุญแบบถูกกฎหมาย จะทำให้สร้างเศรษฐกิจด้านสุขภาพได้ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.นี้มีการวางแนวทางป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแนวทางต่างๆ ที่จะป้องกันการค้ามนุษย์ในประเทศไทย หรือการส่งออกมนุษย์ไปต่างประเทศ
อ่านข่าวอื่นๆ
"Swiftology" จากเพลงสู่ธุรกิจจนถึง "หลักสูตรการสอน" ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
สอบพยานคดี "ลุงเปี๊ยก" แล้ว 7 คน อัยการ-DSI หารือเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย