ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

27 ปี พันธุ์หมาบ้า มิตรภาพเหนือกาลเวลา

Logo Thai PBS
27 ปี พันธุ์หมาบ้า มิตรภาพเหนือกาลเวลา

มิตรภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงถูกถ่ายทอดเป็นวีรกรรมของกลุ่มวัยรุ่นยุค 80 ในนิยายเรื่อง "พันธุ์หมาบ้า" แม้ว่าผ่านมาถึง 27 ปี หากผลงานของนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ ชาติ กอบจิตติ ยังคงเป็นที่จดจำของนักอ่านวัยรุ่นในหลายยุค

ไม่ว่าจะทุกข์ สุข หรือต้องห่างกันไกล แต่มิตรภาพระหว่างเพื่อนนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อหาของบทเพลงพิเศษที่นักร้องหนุ่ม "เป้" อารักษ์ อมรศุภศิริ แต่งขึ้น หลังได้รับการทาบทามให้รับบทนำในภาพยนตร์ที่เตรียมสร้างจากหนังสือเรื่องพันธุ์หมาบ้าของชาติ กอบจิตติ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในฐานะนักอ่านนี่คือหนังสือเล่มแรกที่หยิบอ่านตั้งแต่ชั้นประถม และเมื่อได้อ่านอีกครั้งในวัยมัธยมก็ชื่นชอบ "ทัย" ตัวละครที่ไม่เพียงเป็นนักดนตรี แต่ยังมีเรื่องราวความสัมพันธ์กับพ่อที่คล้ายกับชีวิตตัวเอง

"สิ่งที่ได้จากการอ่านพันธุ์หมาบ้าที่ส่งในเรื่องของงานเพลงคงจะเป็นเรื่องความสามารถด้านภาษา ผมยังจำคำพูดของน้าชาติหลายๆคำในหนังสือได้ ผมเข้าใจว่าหนังสือนิยายมันมีกรอบ แต่หนังสือทำให้กรอบโป่งพองขึ้นมาบ้าง เช่น ใช้คำภาษาที่มันหยาบ กวนประสาท กรอบพวกนั้นก็เอาเค้าไม่อยู่ เลยเป็นคำที่ติดใจ ติดปากผมมาโดยตลอด" เป้ อารักษ์ กล่าว

การได้เห็นเรื่องราวชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นยุค 80 ในนามพันธุ์หมาบ้าได้กลับมาโลดแล่นบนจอเงินอีกครั้ง คือ ความฝันของนนทรีย์ นิมิตรบุตร ที่แม้ยังไม่สำเร็จ เพราะขาดนายทุนในการสร้างหนัง แต่ผู้กำกับคนดังก็มองว่าวิถีลูกผู้ชายที่เล่าผ่านมิตรภาพอันแนบแน่นคือเสน่ห์ของพันธุ์หมาบ้าที่กินใจผู้คนได้ทุกยุคสมัย

"ขอนุญาตพูดถึงแดง ไบเล่ ของหนัง 2499 อันธพาลครองเมือง จะคล้ายๆกัน ทุกเรื่องต้องมีแกนนำ มีผู้นำของเรื่อง ส่วนประกอบต่างๆ มีสีสันมากมายคล้ายๆกัน แต่ผมรู้สึกว่าอ็อตโตเป็นแกนกลางของเรื่อง และเป็นสิ่งที่นำพาเอาเพื่อนๆทั้งหมด มิตรภาพทั้งหมดดำเนินไปด้วยกันจนจบ" นนทรีย์ นิมิตรบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวถึงตัวละครเอกในหนังสือพันธุ์หมาบ้า

"คนที่อ่านในวัยประมาณ ม.4 - ปี 1 เป็นช่วงระหว่างที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันโดนตรงที่เราวัยรุ่นทุกคนมันต้องขบถ เราไม่ได้อยากอยู่ในขนบอะไรบางอย่าง แล้วพันธุ์หมาบ้ามันโดนสองอันนี้มาก" คมสัน นันทจิต ให้ความเห็นในฐานะแฟนหนังสือ

จากเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ในลลนาปี 2528 พันธุ์หมาบ้า ได้กลายเป็นหนังสือได้รับความนิยม จากตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ไม่ว่าจะเป็นอ็อตโต ชวนชั่ว ทัย และอีกมากมาย แม้จะผ่านมา 27 ปี แต่ยังคงสร้างความประทับใจ เรื่องราวของเค้ายังดำเนินต่อไปผ่านตัวหนังสือของชาติ กอบจิตติ

การย้ายมาอยู่กรุงเทพตามลำพังในวัยเด็ก ทำให้มิตรภาพนอกสายเลือด เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของ ชาติ กอบจิตติ หล่อหลอมความทรงจำ จนเกิดเป็นพันธุ์หมาบ้า ซึ่งเป็นงานเขียนที่แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆ ทั้งด้านภาษาและเนื้อหา ที่นักเขียนสองรางวัลซีไรต์บันทึกไว้ว่า ใช้จินตนาการน้อยที่สุด เพราะเทียบเคียงมาจากพฤติกรรม และเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงของคนรอบตัวจนนิยายเรื่องนี้ถูกยกให้เป็นคัมภีร์ชีวิตของนักอ่านในยุคหนึ่ง

ในงาน 27 ปีพันธุ์หมาบ้า นอกจากเพื่อนพ้องพี่น้องจากหลากหลายวงการของนักเขียน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่ไปร่วมงานกันอย่างคับคั่งแล้ว ยังมีกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่แม้ชีวิตในยุคปัจจุบันจะแตกต่างจากสังคมของกลุ่มวัยรุ่นในยุคพันธุ์หมาบ้า หากวรรณกรรมที่ทรงพลังยังคงเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดมิตรภาพใหม่ๆระหว่างนักเขียนและนักอ่านได้เสมอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง