ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฮติวิกฤต! ยึดสนามบิน-ปล่อยนักโทษ กลุ่มอาชญากรประกาศล้มรัฐบาล

ต่างประเทศ
5 มี.ค. 67
12:24
621
Logo Thai PBS
เฮติวิกฤต! ยึดสนามบิน-ปล่อยนักโทษ กลุ่มอาชญากรประกาศล้มรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐบาลเฮติประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับกลุ่มอาชญากรที่ยึดครองเมืองหลวงเกือบทั้งหมด หลังจากปล่อยผู้ต้องขังมากกว่า 3,800 คนออกจากเรือนจำ ซึ่งหัวหน้ากลุ่มอาชญากรประกาศจะโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด

วันนี้ (5 มี.ค.2567) ประชาชนที่อยู่บริเวณสนามบินในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ พากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ท่ามกลางเสียงปืนที่ยิงปะทะกันระหว่างตำรวจและทหาร กับสมาชิกของกลุ่มอาชญากร ที่พยายามบุกเข้าไปยึดสนามบินนานาชาติ โดยในช่วงที่เกิดเหตุสนามบินปิดทำการ และด้านในไม่มีทั้งเครื่องบินและผู้โดยสาร แต่มีพนักงานจำนวนหนึ่งหลบภัยการสู้รบอยู่ด้านใน ในขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มอาชญากรเตือนประชาชนในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ให้พาเด็กๆ กลับเข้าบ้าน

ความรุนแรงในครั้งนี้ปะทุขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงที่นายกฯ เฮติ อยู่ระหว่างการเยือนประเทศเคนยา เพื่อเจรจาให้ส่งกองกำลังตำรวจนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติเข้ามาประจำการในเฮติเพื่อรักษาความมั่นคง

โดยหัวหน้ากลุ่มอาชญากรประกาศว่าจะโค่นล้มนายกฯ พร้อมนำกำลังบุกเรือนจำใหญ่ 2 แห่ง และปล่อยผู้ต้องขังออกมาประมาณ 3,800 คน และเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง ส่งผลให้ประชาชนพากันหนีเข้าไปหลบภัยการสู้รบตามโรงเรียน ศูนย์กีฬา โรงยิมและอาคารสาธารณะต่างๆ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนประมาณ 15,000 คนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ในขณะที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาลหรือเคอร์ฟิว ทำให้กรุงปอร์โตแปรงซ์ ในเวลานี้มีสภาพคล้ายเมืองร้าง แม้แต่โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดได้ระงับการให้บริการตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

ด้าน ปธน.แห่งสาธารณรัฐโดมินิกันซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเฮติ แถลงยืนยันว่าจะไม่จัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อรับผู้อพยพจากเฮติ โดยรัฐบาลจะดำเนินมาตรการเพื่อรับประกันว่าจะสามารถควบคุมและรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนด้านที่ติดกับเฮติเอาไว้ได้

ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง

ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง

ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง

เฮติเดินหน้าเข้าสู่ยุคไร้ขื่อแป ?

ชื่อของเฮติกลับมาอยู่บนหน้าสื่อโลกอีกครั้ง หลังรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิว 72 ชั่วโมง เพื่อจัดการกับกลุ่มอาชญากรที่ก่อเหตุ บุกโจมตีเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ 2 แห่ง ส่งผลให้นักโทษหลบหนีออกมาหลายพันคน 

"เฮติ" ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกอยู่แล้ว และสถานการณ์เช่นนี้กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุฆาตกรรมมากกว่า 40 ครั้งต่อจำนวนประชากรทุกๆ 100,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 2 เท่า แต่เหตุรุนแรงที่เพิ่งปะทุขึ้นล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว กำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ

เรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในเฮติแทบร้างผู้คน นักโทษกว่า 3,700 คน หลบหนีออกมาจากเรือนจำ หลังจากกลุ่มอาชญากรส่งโดรนบินสำรวจสถานที่ ก่อนที่จะก่อเหตุบุกโจมตีเรือนจำแห่งนี้ในคืนวันเสาร์ต่อเนื่องไปจนถึงเช้าวันอาทิตย์ (2-3 มี.ค.2567) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 คน ขณะที่นักโทษที่เหลืออยู่ประมาณ 100 คน เป็นกลุ่มที่ไม่คิดจะหนีและตัดสินใจอยู่ในเรือนจำต่อเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกลุ่มที่เหลือนี้ยังรวมถึงทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย 18 คน ที่ต้องโทษจากคดีลอบสังหาร ปธน.เฮติ เมื่อปี 2564 ด้วย

เรือนจำแห่งนี้ไม่ใช่สถานที่เดียวที่ถูกบุกโจมตี เพราะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ สนามบินนานาชาติไปจนถึงสนามกีฬาแห่งชาติ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ล้วนตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอาชญากร ที่ออกมาประกาศจับมือยกระดับการโจมตีทั่วเมืองหลวงเพื่อโค่นรัฐบาลเฮติที่นำโดยนายกฯ อารีแยล อองรี

อารีแยล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ

อารีแยล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ

อารีแยล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ

องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่า น่าจะมีกลุ่มอาชญากรกว่า 300 กลุ่ม ทั่วเฮติ และครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ควบคุมพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองหลวง ขณะที่ชาวเฮติอย่างน้อย 2,000,000 คน จากประชากรทั้งหมดมากกว่า 11 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตควบคุมของกลุ่มอาชญากร ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 600,000 คน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการถูกชักจูงเข้าร่วมขบวนการ แต่เฮติกลับมีตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยทั้งประเทศเพียงแค่ 9,000 นายเท่านั้น

นอกจากนี้ ความรุนแรงในเฮติยังสะท้อนชัดผ่านตัวเลขความสูญเสียที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี โดยเมื่อปีที่แล้ว มีประชาชนถูกสังหาร ได้รับบาดเจ็บหรือถูกลักพาตัวมากกว่า 8,400 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 122 จากปีก่อนหน้า ส่วนเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลายเป็นเดือนที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ตัวเลขอยู่ที่ 1,108 คน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกลุ่มอาชญากรประมาณ 300 คน คำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ในตอนนี้ คือ สถานการณ์ในเฮติเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2553 และพายุเฮอร์ริเคนแมทธิวในปี 2559 คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของเฮติ ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกา พังทลายลง ขณะที่เหตุลอบสังหาร ปธน.ฌอเวอแนล มออีส ในบ้านพักเมื่อปี 2554 ทำให้เฮติตกอยู่ในภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ซึ่งตามมาด้วยยุคเฟื่องฟูของกลุ่มอาชญากร

การยึดครองเก้าอี้บริหารประเทศของ นายกฯ อองรี นับตั้งแต่ผู้นำเฮติเสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเลยกำหนดการสละเก้าอี้มาตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ทำให้เฮติยิ่งไร้เสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง แต่นายกฯ  ยืนยันว่า เฮติต้องมีความมั่นคงเสียก่อน จึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ลงมติ 13 เสียง จากทั้งหมด 15 เสียง อนุมัติภารกิจสนับสนุนความมั่นคงในเฮติ ซึ่งนำโดยเคนยา เป็นเวลา 1 ปี เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หรือ 1 ปี หลังรัฐบาลเฮติร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติในการปราบปรามกลุ่มอาชญากรในประเทศ

มติดังกล่าวจะเปิดทางให้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากหลายชาติเข้าทำภารกิจในเฮติ ซึ่งปัจจุบัน มี 5 ชาติ ประกาศเข้าร่วมทำภารกิจนี้ คือ บาฮามาส เบนิน บังกลาเทศ บาร์เบโดส และ ชาด แต่ยังไม่ทันได้เริ่มภารกิจ ศาลเคนยาก็ออกมาแตะเบรกเสียก่อน

นายกรัฐมนตรีเฮติเดินทางไปเคนยาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อลงนามข้อตกลงระดมกำลังตำรวจเคนยา 1,000 นาย ไปปฏิบัติหน้าที่ในเฮติตามภารกิจ UN แม้ว่าเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลในกรุงไนโรบีจะตัดสินว่า การดำเนินการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม

ตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เคนยาจะส่งตำรวจเดินทางมากกว่า 12,000 กิโลเมตร ข้ามแอฟริกาและมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังประเทศในทะเลแคริบเบียนได้หรือไม่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไปทำภารกิจได้ในที่สุด แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่า ภารกิจนี้จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากความแตกต่างทางภาษา และข้อเสียเปรียบในด้าน ความคุ้นเคยกับภูมิประเทศ

สถานการณ์ในลักษณะนี้ แน่นอนว่า กลุ่มอาชญากรเจ้าถิ่นย่อมมีแต้มต่อ และที่สำคัญ คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางกลุ่มขยายอิทธิพลและอำนาจผ่านการหาประโยชน์ จากการเรียกค่าไถ่และควบคุมเส้นทางคมนาคมขนส่งสำคัญของประเทศ ทำให้มีทั้งเงินและอาวุธครบมือ ยิ่งประเทศไร้เสถียรภาพ คนก็หันเข้าไปหากลุ่มอาชญากรก็มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดและปลอดภัย

อ่าน : โจมตีคุก "เฮติ" นักโทษหลบหนีหลายพันคน-ประกาศภาวะฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง