วันนี้ (5 มี.ค.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานกรมฯและหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆของไทย
รวมถึงกรณี นายเดวิด นักธุรกิจต่างชาติที่เตะหลังหมอ ซึ่งเข้ามาลงทุน และจดทะเบียนมูลนิธิ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย เป็นคนไทย 2 รายถือหุ้น 51% และต่างชาติ 1 ราย ถือหุ้น 49% ตรวจสอบไม่เข้าข่ายเป็นธุรกิจนอมินี
กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ภูเก็ตทำร้ายคนไทยเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง การตรวจสอบเชิงลึกจะเป็นการร่วมกับดูแลภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
สำหรับเป้าหมายการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบเชิงลึกในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว เช่น ภัตตาคาร นำเที่ยว ให้เช่ารถ โรงแรม รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้จำนวนธุรกิจที่กรมฯคัดกรองว่าเข้าข่ายนอมินี มีประมาณ 419 ราย ส่วนในพื้นที่ภูเก็ตมีจำนวน 59 ราย ที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นางอรมน กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 จะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่กระทำผิด โดยที่จะเข้าตรวจสอบเชิงลึก เช่น การถือหุ้น ประเภทธุรกิจ ทั้งนี้ หากพบว่ากระทบ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 300,000 แสน ถึง 1 ล้านบาทและหากยังฝ่าฝืนมีโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท
อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี2566 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE)
โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) ใช้ชื่อย่อว่า “ศปต.” ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 2. ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3. ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวอื่นๆ:
จับตา"ราคาทองคำ"เฉียดบาทละ 3.8 หมื่นบาท ปลายไตรมาส 2
เนื้อแน่น ! “ปลิงทะเลเกาะยาว” สินค้า GI สัตว์น้ำเศรษฐกิจพังงา
เงินเฟ้อ ก.พ.67 ติดลบ 0.77% เนื้อสัตว์ ผักถูก อานิสงค์มาตรการรัฐ