“เกาะปูลาโต๊ะบีซู” ตั้งอยู่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ชาวบ้านบนเกาะทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม มีชาวบ้าน 130 ครัวเรือน จำนวนประมาณ 800 คน ระยะห่างจากฝั่ง 500 เมตร ต้องเดินทางโดยทางเรือ หากชาวบ้านจะเดินเท้าต้องใช้สะพานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส
ชาวบ้านประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการขายแรงงาน และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย
ชาวบ้านบนเกาะต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากน้ำจืด และต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ยืมจากผู้มีอุปการคุณในยามขัดสนขาดแคลน ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ส่งผลให้ทุกคนทุกครัวเรือนบนเกาะล้วนมีความยากจน ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน กันทุกครัวเรือน อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง
จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้ดำเนินโครงการวิจัย ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซู จ.นราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์” ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” โดยการรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
อ่านข่าว : ยืดอายุความอร่อย ยกคุณภาพ "ทุเรียนกวนเจาะไอร้อง"
ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้ออกแบบกระบวนการแก้ไขความยากจนและปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ เพื่อช่วยแก้ไขความยากจน ปลดเปลื้องปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่
ควบคู่ไปกับการพูดคุยของความร่วมมือจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินแก่ชาวเกาะ ผ่อนปรนให้ชาวเกาะนำสินค้าประมงบางส่วนมาแปรรูปแล้วรวมกลุ่มกันจำหน่าย แทนการต้องนำสินค้าประมงทั้งหมดไปส่งมอบให้เพื่อลดหนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินทุกราย
ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
ได้รับโอกาส-เพิ่มองค์ความรู้ ความคิดเปลี่ยน
ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่าชุมชนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ไม่เคยได้รับโอกาส ขาดองค์ความรู้ ไม่มีวิธีการจัดการ ซึ่งศักยภาพของพื้นที่และคนในชุมชนสามารถพัฒนาต่อยอดและสร้างสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
จึงหาแนวทางในการรับซื้อสินค้าประมงในราคาที่สูงขึ้น แปรรูปพัฒนาสินค้า โดยใช้อุปกรณ์ที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว
สำหรับการเข้ามาในพื้นที่ประเด็นหลักต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านถึงความตั้งใจจริงในการหวังยกระดับคุณภาพชีวิต
เมื่อชาวบ้านเห็นเจตนาที่แท้จริง รวมทั้งลงมือทำให้เห็น ชาวบ้านก็ยอมรับและเปิดใจ
ปลากุเลา-ปลากระบอกแดดเดียว สินค้าเด่น
น.ส.รูฮานี ยูโซะ ประธานกลุ่มแปรรูปเกาะหัวใจเกื้อกูล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการรวมกลุ่มของสมาชิก 17 คน แต่ติดปัญหาเรื่องการขาย จึงทำให้กลุ่มต้องหยุดไป
ในอดีต ชาวบ้านที่ออกเรือไปจับสัตว์ทะเล เมื่อได้มาต้องนำไปจำหน่ายให้กับนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการหักกลบลบหนี้ จนแทบจะไม่เหลือรายได้ ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการกู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ ทั้งค่าน้ำมันเรือ และอุปกรณ์ต่างๆในการจับสัตว์ทะเล
ปัจจุบันการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูลดำเนินการมาได้ 8 เดือน มีสมาชิก 30 คน และมีชาวบ้านที่ขอเข้ากลุ่มเรื่อยๆ
สินค้าที่นำแปรรูปก็จะเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งหมึกตากแห้ง และกุ้งแห้ง รวมไปถึงปลากุเลา และปลากระบอกแดดเดียว
สำหรับปลากระบอก ทางกลุ่มจะรับซื้อจากชาวบ้านในกิโลกรัมละ 60 บาท โดยวิธีการแปรรูป จะนำปลากระบอกมาขอดเกล็ด ผ่าท้อง ล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำไปแช่น้ำทะเลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะไปแช่ในน้ำเกลือ ซึ่ง 2 กรรมวิธีนี้จะทำให้ได้รสชาติของปลากระบอกแดดเดียวที่ต่างกัน จากนั้นนำไปตากในโรงเรือน เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะบรรจุนำไปจำหน่าย
สำหรับสินค้าที่ขึ้นชื่อ จะเป็น ปลากระบอกแดดเดียว และ กุเลา นอกจากนี้ชาวบ้านขายสินค้าไปสู่ออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่วงทางการขายอีกด้วย
เมื่อมีการพัฒนสินค้าแปรรูป ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ ประมาณ 1,500 บาท หนี้สินลดลง และมีประมาณ 5 ครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวบ้านที่อพยพไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านกลับคืนสู่ภูมิลำเนา
อ่านข่าวอื่นๆ :
ชงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทย-มวยไทย” ต่อยูเนสโก
จับตา "ไข้นกแก้ว" ติดจากนกสู่คนพบระบาดในยุโรป ยังไม่พบในไทย
เช็กเลย วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ อายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินเท่าไร