อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พื้นที่ที่มีการประกอบกิจการแปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนกวนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งจะมีเนื้อน้อย แต่รสชาติหวาน และหอม ออกผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน และเมื่อผลทุเรียนสุก จะหล่นลงมาจากต้น ชาวบ้านก็จะไปเก็บมาเพื่อทำทุเรียนกวนต่อไป
ทุเรียนกวนคือภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสืบต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่น ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่กลุ่มเกษตรกรประสบปัญหาทุเรียนกวนคุณภาพต่ำมีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้ขายไม่ได้ราคา อีกทั้งยังขาดทักษะการจัดการ
อ่านข่าว : 800 ชีวิต "เกาะปูลาโต๊ะบีซู" สู้ยากจน แปรรูปอาหารทะเลเพิ่มมูลค่า
ยืดอายุ "ทุเรียนกวน" คุณภาพดี ขายได้ราคา
ผศ.ดร.บงกช กมลเปรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาตัวแบบเชิงรุกและการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะวิกฤตของกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากแบบมีส่วนร่วมใน จ.นราธิวาส โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า สาเหตุหลักอยู่ที่กรรมวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และกระบวนการผลิตทุเรียนกวนที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการบริหาร
ผศ.ดร.บงกช กมลเปรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
หัวใจสำคัญของการผลิตทุเรียนกวนคุณภาพ ที่จะช่วยให้ขายได้ราคาดี เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเนื้อทุเรียนที่ดี ปราศจากการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยการนำเนื้อทุเรียนไปผ่านกระบวนการนึ่งฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส โดยใช้ไฟปานกลาง เวลา 20 นาที
ก่อนนำไปกวนใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง เพื่อให้เหลือความชื้นน้อยที่สุด แล้วนำผึ่งให้เย็น ก่อนจะบรรจุใส่ภาชนะจำหน่าย ซึ่งกระบวนการนี้จะยืดระยะเวลาการเก็บทุเรียนได้ถึง 2 เดือน จากเดิมที่มีอายุได้เพียง 1 เดือน
ภายใต้กระบวนการผลิตดังกล่าวจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนคุณภาพดี เก็บรักษาได้นานขึ้น และขายได้ราคาดีขึ้น
"ห้องเย็น" จากความร่วมมือในพื้นที่
ผู้ประกอบการมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน บริหารห้องเย็น สำหรับเก็บรักษาเนื้อทุเรียน เพื่อยืดอายุเนื้อทุเรียนก่อนการนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นทุเรียนกวน
แวอัรมัน แวมายิ เสมียนดูแลห้องเย็น
นายแวอัรมัน แวมายิ เสมียนดูแลห้องเย็น เปิดเผยว่า ห้องเย็นที่มีออยู่สามารถเก็บได้ 30 ตัน จะคิดค่าเช่าในเดือนแรก 3 บาทต่อกิโลกรัม และในเดือนถัดไปค่าเช่าจะบวกเพิ่ม 1.5 บาทต่อกิโลกรัม
วิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 กลุ่ม มีปริมาณผลผลิต ทั้งสิ้น 1,465 ตัน ดังนั้น ผลักดันงบประมาณเพื่อนำมาสร้างห้องเย็น เพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กับวิสาหกิจชุมชน
ผลิตภัณฑ์ขายทั้งปี รายได้เพิ่ม
นางสุมน แวยะโก๊ะ วิสากิจชุมชนมิงทุเรียนกวน เปิดเผยว่า แต่เดิมไม่มีห้องเย็น ทำให้ต้องนำเนื้อทุเรียนไปแช่ห้องเย็นที่ จ.ปัตตานี ทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น และใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นบางครั้งเนื้อทุเรียนก็เสียไม่สามารถนำมากวนได้
โดยในปี 2566 ทางวิสาหกิจรับซื้อเนื้อทุเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งหมด 50 ตัน โดยรับซื้อกิโลกรัมละ 60-80 บาท โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเนื้อทุเรียน 10 กิโลกรัม เมื่อกวนแล้วจะได้ และจำหน่ายในราคากิโลกรัม 350 บาท
ชาวบ้านรายได้เพิ่มขึ้น 30 %
ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 18 เดือน ช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการ มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากการขายทุเรียนกวนดีขึ้น มีสินค้าขายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้นทั้งในประเทศและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงช่องทางออนไลน์
จากข้อมูลรายได้สุทธิของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียนในพื้นที่ จ.นราธิวาส
- พ.ศ.2564 รายได้สุทธิ 5,387,041 บาท
- พ.ศ.2565 รายได้สุทธิ 8,423,865 บาท
- พ.ศ.2566 รายได้สุทธิ 16,054,026 บาท
นอกจากจะมีทุเรียนกวนที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนอื่นๆ เช่น คุกกี้ทุเรียน ทองม้วน ไอศกรีม
อ่านข่าวอื่นๆ :
เตือน “โรคแอนแทรกซ์” พบ 3 ผู้ป่วยในลาว เหตุกินเนื้อวัว-ควายดิบ