วันนี้ (13 มี.ค.2567) ชาร์ลี แคมป์เบลล์ เขียนบทสัมภาษณ์ระหว่างตัวเขากับนายกฯ ของประเทศไทยด้วยการเริ่มต้นสิ่งที่ทำให้ทีมงาน TIME ประหลาดใจคือ การยกเลิกข้อปฏิบัติห้ามบุคคลภายนอกขึ้นไปบริเวณชั้น 2 ของตึกไทยคู่ฟ้า ที่เป็นที่รู้กันมาอย่างยาวนานว่า น้อยคนนักที่จะได้รับอนุญาตขึ้นไป
ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง
คำบอกของอดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์วัย 62 ปี ผู้ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา เขาโชว์นโยบายที่เขียนบนกระดานไวท์บอร์ดให้ TIME ดู ไม่ว่าจะเป็น เงินดิจิทัล, ศูนย์กลางการบิน, เหมืองแร่โปแตซ, การเจรจากับ Tesla และการเจรจาธุรกิจกับต่างชาติอีกมากมาย เศรษฐาบอกว่า เพียงแค่เดือน พ.ย.2566 ที่ผ่านมา เพียงเดือนเดียว มีหลายบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยแล้วกว่า 8,300 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดมาจากเสน่ห์ในการขายของของ "เซลส์แมน" คนนี้
อ่าน : Thailand’s New Prime Minister Is Getting Down to Business. But Can He Heal His Nation?
The Salesman
ช่วง 2 ทศวรรษที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแตกแยกทางการเมือง เศรษฐกิจที่ซบเซา GDP เฉลี่ยในประเทศต่ำกว่าร้อยละ 2 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐา มองว่าที่คือ "วิกฤตทางเศรษฐกิจ" ที่ต้องรับมือ เขาวางแผนลดภาษีน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ยกเว้นวีซาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงทำให้ไทยเป็นเหมือน "สะพาน" และ "พื้นที่ปลอดภัย" ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
แม้ผู้นำของไทยคนปัจจุบันจะกล่าวว่า เขาอยากเห็นประเทศไทยเปล่งประกาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนทางข้างหน้ายังดูมืดมน เพราะการก้าวสู่ตำแหน่งที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อ "เพื่อไทย" ได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 2 และต้องยอมรวมกลุ่มพันธมิตรกับอีก 10 พรรคการเมือง และเสียงสนับสนุนจาก สว. แต่ผู้นำประเทศไทยที่มีเครื่องหมายการค้าของตัวเองเป็นถุงเท้าอันสีฉูดฉาด ก็บอกว่า
ความกดดันไม่ได้เกิดจากการเป็นรองแชมป์ แต่เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย นั่นคือความกดดันที่ผมต้องเจอทุกวัน
นักเดินทาง
หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 1 เดือน เศรษฐาต้องรับมือกับโจทย์ใหญ่ เหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้น การเดินทางต่างประเทศก็ดูจะเป็นงานหลักของนายกฯ เศรษฐา ไปเสียแล้ว เขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจุดมุ่งเน้นของเขาอยู่ที่การลงทุนจากต่างประเทศ การค้า การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาไปพบกับ ปธน.จีน สี จิ้นผิง เพื่อชักชวนการลงทุน คุยกันเรื่องการสร้างแลนด์บริดจ์มูลค่าล้านล้านบาท การยกเว้นวีซาเข้าประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 90 วัน ซึ่งมากกว่าที่ชาวอเมริกันสามารถทำได้ถึง 3 เท่า
ในขณะที่เศรษฐาเดินทางไปทั่วโลก และชักชวนให้คนมาเที่ยว ลงทุน ในเมืองไทย แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยถูกผูกขาดด้วยบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท มีบริษัทต่างชาติหลายบริษัทต้องการมาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม การค้าปลีก เครื่องดื่ม
แต่ทุกคนรู้ดีว่าธุรกิจเหล่านั้นถูกครอบครองด้วยบริษัทในไทยไปก่อนแล้ว
มุมมองจาก ดันแคน แมคคาร์โกศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญประเทศไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ในสิงคโปร์ นอกจากนี้ มันดูย้อนแย้งกันเมื่อ "เพื่อไทย" เคยประกาศไว้ว่าจะลดอำนาจการผูกขาดของกลุ่มบริษัทใหญ่ แต่เพียง 1 สัปดาห์หลังขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง ก็ปรากฏภาพการกินอาหารค่ำร่วมกันของเศรษฐาและเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ของประเทศไทย
จาก CEO บริษัทสู่ CEO ของประเทศ ย่อมมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกับในห้องประชุม ที่อำนาจไม่เคยถูกแบ่งให้เท่าๆ กัน
เศรษฐากล่าวปิดท้าย
อดีตผู้นำไทยขึ้นปกนิตยสาร TIME
นายเศรษฐา ทวีสิน นับเป็นผู้นำประเทศไทยคนล่าสุดที่ขึ้นปกนิตยสาร TIME นิตยสารข่าวที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1923 นับถึงปัจจุบันมีอายุถึง 101 ปี นับเป็นนิตยสารที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดชื่อหนึ่ง มีเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องด้วยรูปเป็นสิ่งสำคัญด้วยคอนเซปต์ "Strong Impact with Deep Caption" เป็นคำที่ใช้อธิบายรูปหน้าปกของนิตยสารไทม์ได้ดี
6 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปกนิตยสาร TIME ปักษ์แรกฉบับเดือน ก.ค.2561 กับบทวิเคราะห์เรื่อง "ผู้นำไทยให้คำมั่นว่าจะคืนประชาธิปไตย แต่กลับยิ่งกระชับอำนาจ" โดย "ชาร์ลี แคมป์เบล" เนื้อหาบอกเล่าถึงสถานการณ์การเมืองไทย พร้อมเปรียบเทียบเหตุการณ์ยึดอำนาจในอดีตกับปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ 4 ปีของการแสวงหาอำนาจ แต่เป็นเวลาของการแก้ปัญหา สร้างเสถียรภาพและอนาคต
นายชวน หลีกภัย เป็นอดีตนายกฯ ของไทยอีกคนหนึ่งที่ได้ขึ้นปก TIME ฉบับวันที่ 30 มี.ค.2541 กับการพาดหัว Thailand's comeback kid ส่วน นายทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นอดีตผู้นำของไทย ที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME มากที่สุดถึง 3 ครั้ง
อ่านข่าวอื่น :
"ชัยธวัช" พร้อมสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ปัดตอบพรรคสำรอง
พณ.เล็งสร้างศูนย์ระบายข้าวที่"เซินเจิ้น" ฮ่องกงสั่งข้าวไทย 1.8 แสนตัน