ตอนนี้ "อินเดีย" ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ครอบครองขีปนาวุธหลายหัวรบ หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบรอบแรกไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ขีปนาวุธรุ่นนี้มีชื่อว่า อัคนี-5 ซึ่งจริงๆ แล้ว อินเดียพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธรุ่นนี้มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว แต่ตอนนั้นเป็นแบบที่ติดตั้งหัวรบได้เพียง 1 หัวรบเท่านั้น ขณะที่รุ่นที่เพิ่งทดสอบไปเมื่อวันจันทร์ เป็นรุ่นใหม่ที่บรรจุเทคโนโลยี MIRV เข้าไป ทำให้ติดตั้งได้หลายหัวรบ โดยจะสังเกตเห็นว่า ส่วนหัวของขีปนาวุธทั้ง 2 รุ่นนี้ มีขนาดและรูปทรงแตกต่างกัน
แล้วขีปนาวุธหลายหัวรบมีดีที่ตรงไหน ?
ขีปนาวุธประเภทนี้ต่างจากขีปนาวุธทั่วไปตรงที่บรรจุได้หลายหัวรบ ซึ่งตอนนี้รัสเซียกำลังพัฒนารุ่นที่บรรจุได้สูงสุดถึง 16 หัวรบ ขณะที่ข้อได้เปรียบสำคัญอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ การโจมตีแบบแยกเป้าหมายได้
อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าเป็นขีปนาวุธทั่วไป 1 ลูก จะโจมตีได้ 1 เป้าหมาย เพราะมี 1 หัวรบ แต่ขีปนาวุธหลายหัวรบจะโจมตีทีเดียวได้พร้อมกันหลายเป้าหมาย ซึ่งทำให้ระบบต่อต้านขีปนาวุธยิงสกัดได้ยาก โดยแต่ละเป้าหมายอยู่ห่างกันได้สูงสุด 1,500 กม. และแต่ละหัวรบอาจจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่างกันและในทิศทางที่ต่างกันได้อีกต่างหาก
แม้อินเดียจะไม่ได้เปิดเผยว่า อัคนี-5 รุ่นติดตั้งเทคโนโลยี MIRV จะสามารถบรรจุหัวรบได้กี่หัวรบ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทีมวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของอินเดียได้ไม่น้อย ซึ่งขีปนาวุธรุ่นนี้มีพิสัยทำการสูงสุด 5,000 กม. ทำให้ทั้งปากีสถานและจีนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาของอินเดียอยู่ในพิสัยการโจมตี รวมทั้งยังครอบคลุมไปไกลตั้งแต่ตะวันออกกลาง รัสเซีย คาบสมุทรเกาหลีมาจนถึงอาเซียน
ข้อมูลจากศูนย์เพื่อการควบคุมและไม่แพร่ขยายอาวุธในสหรัฐฯ ชี้ว่า ประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์แทบทุกประเทศ มี หรือ ไม่ก็ กำลังพัฒนาขีปนาวุธหลายหัวรบ อย่างสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ประจำการขีปนาวุธข้ามทวีปแบบหลายหัวรบมาตั้งแต่ปี 1970 ก่อนที่จะพัฒนาเป็นแบบยิงจากเรือดำน้ำในอีก 1 ปีต่อมา
อ่าน : "ออปเพนไฮเมอร์" ผู้มอบอำนาจการทำลายล้างให้ "มนุษย์"
ขณะที่สหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบัน พัฒนาขีปนาวุธประเภทนี้ ทั้งแบบยิงจากภาคพื้นดินและเรือดำน้ำได้หลังจากสหรัฐฯ ไม่กี่ปี โดยถ้ามาดูการครอบครองขีปนาวุธหลายหัวรบในตอนนี้ จะพบว่า สหรัฐฯ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ใช้เทคโนโลยีนี้กับขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ ขณะที่จีนเป็นแบบยิงจากภาคพื้น
การยิงโจมตีครั้งเดียวแต่ได้หลายเป้าหมายฟังดูเหมือนดี แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะกลายเป็นเป้าหมายที่ดึงดูดให้ศัตรูพุ่งเป้าโจมตีได้ เพราะเพียงแค่ทำลายขีปนาวุธได้ 1 ลูก ก็เท่ากับทำลายหัวรบได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการใช้กลยุทธ์แบบชิงโจมตีก่อนและอาจยกระดับการใช้ความรุนแรงได้
ขณะที่ความพยายามในการพัฒนาและประจำการเทคโนโลยีขีปนาวุธหลายหัวรบในหลายประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ ก็ยิ่งผลักให้โลกเข้าใกล้ยุคของนิวเคลียร์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละประเทศก็จะยิ่งผลิตหัวรบเพื่อใช้กับขีปนาวุธของตัวเอง เช่นเดียวกับสถานการณ์ในยุคแรกๆ ของการพัฒนาขีปนาวุธหลายหัวรบที่ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตสั่งสมหัวรบนิวเคลียร์หลายหมื่นหัวรบ
อ่าน : ไม่พลิกโผ! "Oppenheimer" คว้า 7 ออสการ์ จากเข้าชิงทั้งหมด 13 รางวัล
ปัจจุบัน มีเพียง 9 ประเทศ ที่ถือครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกว่า 12,500 หัวรบ โดยรัสเซียและสหรัฐฯ มีรวมกันคิดเป็นเกือบร้อยละ 90 ของทั้งโลก ที่น่าสนใจ คือ ตอนนี้ "รัสเซีย" กำลังเปลี่ยนขีปนาวุธข้ามทวีปให้กลายเป็นแบบหลายหัวรบทั้งหมด ซึ่งสหรัฐฯ ก็กำลังผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ขณะที่จีนเตรียมเร่งกำลังการผลิตหัวรบเพื่อนำมาใช้กับขีปนาวุธหลายหัวรบ โดยสหรัฐฯ ประเมินว่า จีนน่าจะประจำการ 1 พันหัวรบได้ภายในปี 2030 ส่วนอังกฤษตัดสินใจเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงแล้ว เพื่อให้พร้อมสำหรับการติดตั้งในขีปนาวุธ
อินเดียใช้เวลากว่า 20 ปี ในการพัฒนาขีปนาวุธหลายหัวรบ และหลังจากนี้ คงจะต้องทำการทดสอบอีกหลายรอบกว่าที่จะสามารถนำมาประจำการในกองทัพได้ แต่ที่แน่ๆ ความสำเร็จนี้น่าจะช่วยเรียกคะแนนนิยมให้กับผู้นำอินเดียก่อนหน้าเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใน 1-2 เดือนนี้ได้มากพอสมควร
อ่านข่าวอื่น :
เปิดภาพ "ทักษิณ ชินวัตร" ล่าสุด ถึงเชียงใหม่ ลงเครื่องบินแล้วไปไหนบ้าง
ปิ๊กมาแล้ว! "ทักษิณ" รำลึกอดีตเช็กอินที่เที่ยว-ที่กินเชียงใหม่