วันนี้(15 มี.ค.2567) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า วันผู้บริโภคสากลในปีนี้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากลกำหนดวาระ "เอไอ (AI) ที่มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมกับผู้บริโภค" เป็นหัวข้อหลักในการรณรงค์เรียกร้องร่วมกันขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ในผลกระทบของผู้บริโภคอันเกิดจากแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากปัจจุบันของผู้บริโภคทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจากการใช้เทคโนโลยี หรือ เอไอ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการหลอกลวงด้วยวิธีการต่าง ๆ
และสภาผู้บริโภค หวังว่ารัฐบาลจะใช้วันสงกรานต์เป็นจุดเริ่มในการปรับปรุงกฎหมายร่วมกัน และขอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ที่ใช้มานาน โดยการเพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนและให้เป็นสากลมากขึ้น
ทั้งในเรื่องของอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค การปกป้องผู้บริโภค การสนับสนุนองค์กรฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องมีตัวแทนในสัดส่วนที่ชัดเจน เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนหลาย ๆ ประเทศ แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ยังด้อยกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน
น.ส.สาลี กล่าววา การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 2522 ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขในเรื่องดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อยกระดับสิทธิผู้บริโภคไทยเทียบเท่าสากล
เช่น ในต่างประเทศระบุสิทธิในการเข้าถึงสินค้าและการบริการในการดำเนินชีวิตหลายประเทศรับรองสิทธิในเรื่องนี้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ทันกลโกงของมิจฉาชีพ รวมถึงเรื่องความเท่าทันของการทำงานเอไอ ทั้งเรื่องการโจรกรรมทาง (Cyber Crime) ที่ผู้บริโภคต้องเผชิญทุกวันด้วย
ด้าน นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงสถาน การณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้โดยเฉพาะปัญหาของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิจากเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ในหลากหลายรูปแบบและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์กรผู้บริโภคในระดับสากลและสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคในประเทศไทยได้ร่วมจัดงานนี้ขึ้นเพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการใช้เทคโนโลยีเอไอที่มีความเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
รัฐบาลตระหนักดีว่าการเข้ามาของเอไอ มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและขณะเดียวกันก็อาจสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเกิดเป็นภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น
สำหรับในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยกระดับสิทธิของผู้บริโภค และการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลสามารถพัฒนาพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
โดยที่ผ่านมาองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค ได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคไปแล้วกว่า 43,446 เรื่อง
อ่านข่าวอื่น ๆ
"ทักษิณ" สักการะครูบาศรีวิชัย "บิ๊กโจ๊ก" รอรับ - ลุ้นดินเนอร์ "เศรษฐา"
ลูกหนี้มีเฮ ! ออมสิน เปิดช่องช่วยไม่เสียเครดิต ผ่อนไม่ไหวรีบติดต่อ