ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"

Logo Thai PBS
มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
20 มีนาคม 2567 "วันวสันตวิษุวัต" ช่วงกลางวันยาวเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2567 เป็น "วันวสันตวิษุวัต" (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด)(Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

คำว่า "Equinox" มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า "วิษุวัต" แปลว่า "จุดราตรีเสมอภาค" จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี

ซึ่งวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้ จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคม ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก

ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและจะตกทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก

สำหรับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ ในครั้งถัดไปตรงกับวันที่ 21 มิ..ย. 2567 เป็นวันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice)

ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศในซีกโลกใต้

อ่านข่าวอื่น ๆ

เม.ย.นี้ ลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" อาจสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ล้ำไปอีกขั้น! มนุษย์พิมพ์ข้อความ AI สร้างคลิปวิดีโอ

ใครเห็นบ้าง? สดร.เผยภาพ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง