ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อำนาจ "รักษาราชการแทน ผบ.ตร." ทำอะไรได้บ้าง

สังคม
21 มี.ค. 67
13:07
7,793
Logo Thai PBS
อำนาจ "รักษาราชการแทน ผบ.ตร." ทำอะไรได้บ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พายุฤดูร้อนเข้าไทย แต่ฟ้าดันผ่าเปรี้ยงที่ สตช. เด้ง "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" เข้ากรุสำนักนายกฯ ส้มหล่นตกที่ "รองต่าย" ขึ้นแท่นรักษาการ ผบ.ตร. สวมหัวโขนนำขบวนผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จะเป็นการชั่วคราวหรือซ้อมนั่งไว้ก่อน คงต้องรอดูว่า 2 เดือนนี้ปมบาดหมางจะจบลงยังไง

เช้าจูงมือกันเดินเข้าพบนายกฯ เคลียร์ใจปมบาดหมาง 2 ฝ่าย
เที่ยงกอดเอวโชว์สื่อยัน ยังรักกันดี ไม่เคยทะเลาะ
คล้อยบ่ายกอดคอกันรับคำสั่งย้ายเข้าปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ เป็นเวลา 60 วัน

นายกฯ ออกโรงชี้แจงพร้อมคำสั่ง 3 ฉบับ จำเป็นต้องเอาตัวคู่ขัดแย้งออกจากสนามเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไปได้แบบที่ไม่ถูกแทรกแซง เป็นที่มาของคำสั่งฉบับแรก สั่งย้ายราชการ 2 บิ๊กตำรวจ ส่วนฉบับที่ 2 แต่งตั้ง "บิ๊กต่าย" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นรักษาการ ผบ.ตร. ส่วนฉบับที่ 3 แต่งตั้ง ฉัตรชัย-ชาติพงษ์-พล.ต.อ.วินัย สอบปมขัดแย้งเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

โดยทั้ง 3 ฉบับมีคีย์เวิร์ดเหมือนกันคือ ระยะเวลา 60 วัน ที่น่าจับตา ณ ขณะนี้คือ การขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แม้จะมีคำนำหน้าว่า "รักษาการ" แต่เมื่อเปิดเอกสารราชการ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 พบว่ามีมาตราหนึ่งระบุว่า "ผู้รักษาราชการแทนมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน" 

นั่นหมายถึง "บิ๊กต่าย" ต้องปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร. รวมถึง "การเสนอชื่อ ผบ.ตร. คนที่ 15" ให้แก่นายกฯ อีกด้วย ย้อนดูประวัติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เองก็ยังมีลุ้นนั่ง ผบ.ตร.คนที่ 15 เหมือนกัน เพราะอาวุโสรองแค่ "บิ๊กโจ๊ก" คนเดียว การนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. 2 เดือนนี้ ถ้าจะบอกว่า ซ้อมนั่งเก้าอี้ "พิทักษ์ 1" ก็คงเป็นไปได้  

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

หมวด 5 การรักษาราชการแทนและการปฏิบัติราชการแทน

มาตรา 105 ในกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการตำรวจในส่วนราชการหรือหน่วยงานใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้บังคับบัญชาดังต่อไปนี้ สั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งเห็นสมควรรักษาราชการแทนในตำแหน่งนั้นได้

  1. นายกรัฐมนตรี สำหรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  2. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่าลงมา
  3. ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่า สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บังคับการ หรือ ตำแหน่งเทียบเท่าลงมาในส่วนราชการนั้น
  4. ผู้บังคับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ ผู้กำกับการ หรือ ตำแหน่งเทียบเท่าลงมาในส่วนราชการนั้น

ในกรณีที่ไม่มีการแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจผู้ใดรักษาราชการแทน และมีผู้ดำรงตำแหน่งรองของตำแหน่งนั้น ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยของตำแหน่งดังกล่าว ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งนั้น ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วยหลายคน ให้ผู้มีอาวุโสตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วย หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ก็ให้ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้มีอาวุโสตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ในส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นเป็นผู้รักษาราชการแทน

เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77
(1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(2) รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติ
(3) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติ
(4) ผู้บัญชาการและจเรตำรวจ
(5) รองผู้บัญชาการและรองจเรตำรวจ
(6) ผู้บังคับการ
เป็นการย้อนหลัง การปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งเดิมที่ได้กระทำไปก่อนมีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เป็นอันใช้ได้

มาตรา 106 นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ และการดำเนินการด้านอื่นที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ในกิจการของแต่ละกองบัญชาการ ให้ผู้บัญชาการของแต่ละกองบัญชาการนั้นเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ในการปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ผู้บัญชาการจะมอบหมายให้รองผู้บัญชาการปฏิบัติราชการแทนก็ได้

ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้บัญชาการตามวรรคหนึ่ง และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้บัญชาการตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการหรือการระงับความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของผู้บัญชาการตามวรรคหนึ่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะระงับการใช้อำนาจของผู้บัญชาการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวและใช้อำนาจนั้นด้วยตนเองก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.ต.ช. กำหนด

มาตรา 108 ให้ผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา 105 มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

ในกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีหน้าที่และอำนาจอย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนมีหน้าที่และอำนาจเป็นกรรมการหรือมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่รักษาราชการแทน

การสั่งให้รักษาราชการแทนให้มีผล นับแต่เวลาที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่ และให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือตำแหน่งผู้ช่วยพ้นจากความเป็นผู้รักษาราชการแทน นับแต่เวลาที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปแล้วในระหว่างเป็นผู้รักษาราชการแทน

แล้วหน้าที่ของ ผบ.ตร. ต้องทำอะไรบ้างล่ะ ?

หมวด 2 ตำแหน่งและการกำหนดตำแหน่ง

มาตรา 63 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

  1. รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการที่นายกรัฐมนตรีและ ก.ต.ช. กำหนด รวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

  2. เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

  3. เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

  4. วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ระเบียบหรือคำสั่งดังกล่าวจะขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพระราชบัญญัตินี้มิได้

  5. รับผิดชอบในการกำกับดูแลให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และกฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัด

  6. ดูแลให้หน่วยงานทุกหน่วยโดยเฉพะสถานีตำรวจ กองบังคับการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรจังหวัด มีกำลังพล งบประมาณ อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นตามมาตรฐานที่ ก.ตร. กำหนดตามมาตรา 23 (3)

มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (2) รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติ (3) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติ (4) ผู้บัญชาการและจเรตำรวจ (5) รองผู้บัญชาการและรองจเรตำรวจ (6) ผู้บังคับการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  1. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ให้นายกรัฐมนตรี คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

  2. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

  3. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการและจเรตำรวจ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) เสนอแนะ แล้วเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบแล้วจึงนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

  4. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการและรองจเรตำรวจ และ ผู้บังคับการ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) เสนอแนะ โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับกองบัญชาการที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. มาประกอบการพิจารณาด้วย หากมีความเห็นแตกต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) ก่อนเสนอ ก.ตร. พิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

การจัดทำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการตาม (4) ให้พิจารณาเสนอรายชื่อได้เฉพาะข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในสังกัดเท่านั้น

ในกรณีที่ ก.ตร. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด ให้แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง