วันนี้ (21 มี.ค.2567) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้กลิ่นเหม็นไหม้ และพบว่ามีหมอกควันปกคลุมหลายพื้นที่ ค่าฝุ่นยังคงเกินค่ามาตรฐานในระดับสีแดง จึงห่วงสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ
- กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
- กลุ่มโรคตาอักเสบ
กลุ่มดังกล่าวจะมีอาการผิดปกติเจ็บป่วย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป
อ่าน : ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ชี้ 3 สาเหตุกลิ่นไหม้-หมอกควันคลุม กทม.
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 23.00 - 06.00 น. ของวันที่ 20-21 มี.ค.2567 พบ 39 พื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล รวมไปถึงภาคกลาง มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
สำหรับพื้นที่ที่พบค่าฝุ่นสูงสุด คือ เขตลาดกระบัง 195.6 มคก./ลบ.ม.
- รองลงมา คือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 138.8 มคก./ลบ.ม.
- เขตวังทองหลาง 130.0 มคก./ลบ.ม.
- เขตจตุจักรและเขตลาดพร้าว 117.2 มคก./ลบ.ม.
- เขตธนบุรี 113.7 มคก./ลบ.ม.
- เขตหลักสี่ 110.9 มคก./ลบ.ม.
- เขตดอนเมือง 110.3 มคก./ลบ.ม.
- อ.เมือง จ.นนทบุรี 101.1 มคก./ลบ.ม.
สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือเป็นผื่นคันตามร่างกาย และผู้ที่สัมผัสฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีอาการผิดปกติเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป
อ่าน : ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุม กทม.เช้านี้ พุ่งเกินค่ามาตรฐาน - เชียงใหม่อากาศดีขึ้น
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กใน 4 กลุ่มโรคดังกล่าว พบว่าระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 20 มี.ค.2567 อัตราป่วยทั้งหมด 977 คนต่อประชากรแสนคน โดยอัตราป่วยสูงสุด คือ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 493 คน ต่อประชากรแสนคน
- รองลงมา คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ 395 คนต่อประชากรแสนคน
- กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 12 คนต่อประชากรแสนคน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด 4 รายต่อประชากรแสนคน
กลุ่มอายุของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราป่วย 4,564 คนต่อประชากรแสนคน
- รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี อัตราป่วย 3,230 คนต่อประชากรแสนคน
- อายุ 50-54 ปี อัตราป่วย 2,528 คนต่อประชากรแสนคน
- อายุ 45-49 ปี อัตราป่วย 1,952 คนต่อประชากรแสนคน
- อายุ 40-44 ปี อัตราป่วย 1,497 คนต่อประชากรแสนคน
- อายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 1,415 รายต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
อ่าน : ไขคำตอบ "กลิ่นไหม้" คลุมกทม.อันตรายหรือไม่
แนะวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้น - ตรวจเช็กค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน
ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชน ปฎิบัติดังนี้
- ปิดบ้านให้มิดชิด โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันฝุ่น
- เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน air4thai หรือ "เช็คฝุ่น" หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่นและใช้เวลาอยู่ภายนอกสั้น ๆ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- หากค่าฝุ่นมากกว่า 75.0 mg/m3 ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ไม่ควรออกจากบ้านเพราะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น
- หากประชาชนมีอาการผิดปกติ ให้รีบกลับเข้าสู่ที่พักที่ปลอดฝุ่น และรีบปรึกษาแพทย์ทันที
อ่านข่าวอื่น ๆ
จับกระแสการเมือง 21 มี.ค.67 ปทุมวันการละคร "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" แค่พักยก ผบ.ตร.แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้