กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอขอใช้งบกลาง 1,000 ล้านบาท แก้ปัญหาช้างป่าครอบคลุมทุกมิติ
สถิติปี 2566 พบช้างออกนอกป่าอนุรักษ์ ในกลุ่มป่าตะวันออกมากที่สุด 5,217 ครั้ง รองลงมากลุ่มป่าแก่งกระจาน 3,685 ครั้ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2,011 ครั้ง ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2567 ชาวบ้านถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต 13 คน
"ที่ผ่านมาเราพยายามเจียดจ่ายงบปกติ เงินรายได้กรมอุทยานฯ และงบฯ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มาช่วย" นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ บอกเล่าถึงการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ผ่านมา ยังติดขัดปัญหางบฯ ไม่เพียงพอ ได้รับเงินหลักสิบล้านบาทต่อปี
หากสำนักงบประมาณ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบงบฯ 1,000 ล้านบาท จะถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ นำไปใช้บริการจัดการพื้นที่ป่า เพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ซ่อมแซมคูกันช้าง ปรับคูกันช้างดาดคอนกรีต การสร้างความรู้ความเข้าใจและความปลอดภัยของประชาชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในด้านความเสียหายของทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ
สิ่งสำคัญลำดับแรก คือ การจ้างชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้าง ที่ขณะนี้นำร่อง 30 ชุด 150 คน ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน จนคุ้นเคยพื้นที่และรู้พฤติกรรมช้างแต่ละตัว พร้อมอุปกรณ์จำเป็น กระจายให้ครบทุก 16 กลุ่มป่าทั่วประเทศ ใช้งบฯ 474 ล้านบาท เช่น การจ้างชุดปฏิบัติการฯ 198 ชุด ชุดละ 7 คน รวม 121.9 ล้านบาท รถยนต์ ไฟฉาย เปลสนาม มุ้ง เครื่องรับส่งวิทยุ ที่สำคัญคืออากาศยานไร้คนขับ พร้อมกล้องตรวจจับความร้อน และระบบสื่อสาร (โดรน Thermal) ทั้งหมด 198 ตัว ราคาตัวละ 250,000 บาท รวม 49.5 ล้านบาท
"โดรน Thermal" อุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผลักดันช้าง ต้องการให้มีประจำชุดการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความปลอดภัยขณะผลักดันช้างเข้าป่า ขณะนี้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีโดรนดังกล่าวใช้เพียง 1 ตัว จากการสนับสนุนของกลุ่ม save ฅน save ช้าง โดยใช้ในทุกภารกิจเกี่ยวกับงานช้าง ทั้งผลักดัน แกะรอยติดตามรักษาอาการบาดเจ็บ ติดปลอกคอ และจับเคลื่อนย้ายช้าง ส่วนชุดผลักดันมีทั้งหมด 6 ชุด กระจายตามจุดที่ช้างออกนอกพื้นที่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ อ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
อุปกรณ์โดรน Thermal ไม่เพียงพอ ตอนนี้กลุ่ม save ฅน save ช้าง สนับสนุน 1 ตัว และขอยืมในกรณีฉุกเฉินได้อีก 1 ตัว แต่พื้นที่ป่าตะวันออกค่อนข้างกว้าง 5 จังหวัด
เจ้าหน้าที่ใช้โดรน Thermal หาพิกัดช้างป่า
"ช้างเดินกิน กระดิกหูสบายใจ" นายตันติกร พวงสกุล ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ผู้บังคับโดรน Thermal ในช่วงเวลา 23.40 น. คืนหนึ่งของภารกิจติดปลอกคอช้าง พูดคุยตอบโต้ผ่านวิทยุสื่อสารไปถึงเจ้าหน้าที่หน้างานที่อยู่ใกล้ตัวช้าง เพื่อให้รู้ถึงอารมณ์ และพฤติกรรมช้าง
"ช้างเดินมุ่งหน้าไปทางบ้านหลังหนึ่งมีสระน้ำ ห่างไม่เกิน 100 เมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และกำลังเดินวกกลับมาทางทิศใต้" จากนั้นช้างเดินผ่านสวนยางพารา ไร่มันสำปะหลัง สวนขนุน ก่อนอำพรางตัวเหมือนรู้ว่ามีใครจับตาดูอยู่
เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในภารกิจสัตว์ป่า ซึ่งกล้อง Thermal ใช้งานได้ในเวลากลางคืน ทำให้มองเห็นตัวสัตว์ เนื่องจากอุณหภูมิจากสัตว์จะสูงกว่าอุณหภูมิของพื้นที่ที่อยู่รอบข้าง จึงเหมาะกับงานเฝ้าระวังช้างป่า อีกทั้งลักษณะเด่นขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวก กล้องที่ติดมากับโดรนมีเลนส์มุมกว้าง เลนส์ซูม 54 เท่า และเลนส์ Thermal ตรวจจับความร้อน
ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ผลักดันช้าง และเคสล่าสุดในพื้นที่ จ.สระแก้ว เจ้าหน้าที่ตามรอยเข้าไปในหย่อมป่า และช้างหลบอยู่ ก่อนพุ่งชาร์จ ทำให้เสียชีวิต 1 นาย
ส่วนตัวเคยเจอช้างใกล้สุดระยะ 20-30 เมตร โดยช้างวิ่งเข้าชาร์จ ขณะการผลักดันออกจากชุมชนในพื้นที่ปลวกแดง จ.ระยอง ลักษณะการวิ่งไล่ระยะแรก ช้างก้าวเท้ายาว โชคดีที่มีรถบังอยู่ สุดท้ายรอจนช้างอารมณ์เย็นลง และผลักดันเข้าป่าได้สำเร็จ
ในภารกิจการผลักดันนอกเขตป่า คืนหนึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินไกล 20-30 กิโลเมตร บางครั้งขณะเดินตามผลักดัน พบว่า ช้างบางตัว หรือบางกลุ่มย่อย แยกตัวจากช้างกลุ่มใหญ่และเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ไม่ต้องการให้ไป อาจเกิดอันตรายกับชุดผลักดันและประชาชนในพื้นที่ หรือกรณีช้างวกมาด้านหลังเจ้าหน้าที่ เมื่อนำโดรน Thermal มาใช้ ทำให้เห็นการเคลื่อนตัวของช้างป่าในมุมกว้าง รวมทั้งเฝ้าระวังช้างป่าตัวอื่นที่จะเข้ามาขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
โดรน Thermal จึงช่วยลดเวลาแกะรอยค้นหานาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ ซึ่งระหว่างการใช้งานโดรนจะพูดคุยผ่านวิทยุสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วที่ทำหน้าที่ผลักดันช้าง ทำให้ทราบตำแหน่ง จำนวน และทิศทางที่ช้างมุ่งหน้าไป
การแก้ปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชน
เช่นเดียวกับ "นิภาพร วงศ์อยู่" หรือมด วัย 37 ปี ผู้ใช้นามเรียกขาน "ไพริน 16" ของศูนย์มรกต และเป็นอาสาสมัครชุดผลักดันช้างอำเภอเขาชะเมา ชื่อกลุ่ม "กรินคีรี" เห็นว่าควรจะมีโดรน Thermal ประจำชุดผลักดันช้าง เพราะการแกะรอยค้นหา ในบางครั้งรอยช้างหายไป แต่ช้างอาจหลบข้างหลัง หากมีโดรนจะช่วยได้มาก
นิภาพร วงศ์อยู่
เข้าสู่ปีที่ 3 นิภาพรใช้เวลาว่างหลังทำสวนยางพารา ช่วยงานผลักดันช้างแทบวันเว้นวัน โดยสแตนบายด์ตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00-02.00 น. และเข้าไปยังพื้นที่เมื่อได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือ และกันช้างออกจากบ้านเรือนประชาชน บางครั้งต้องเดินหลายกิโลเมตร ตามเส้นทางที่ช้างผ่านป่ายาง ชายเขา จนผลักดันเข้าป่าสำเร็จ
การทำงานทุกครั้งมีความเสี่ยง แต่เธอไม่ท้อ เพราะดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันช้างที่ออกมารบกวนประชาชน ส่วนใหญ่จะเจอช้างมีชื่อแห่งป่าตะวันออก ทั้งเจ้ามะม่วง เขียวหวาน เก ลักษณะหากินเป็นวงรอบและพักตามเส้นทาง หากไม่มีใครรบกวน ก็จะปักหลักเป็นช้างถิ่น ส่วนตัวเชื่อว่าการเคลื่อนย้ายช้างออกจากพื้นที่ ก็ช่วยได้สักพัก แต่สุดท้ายช้างก็กลับมา
เอาเรื่องทุกตัว บางครั้งช้างเจ็บมา เปลี่ยนพฤติกรรม มาเจอเราก็หงุดหงิด หรือบางครั้งช้างอยู่ในมุมมืด ฉายไฟไปเจอ เขาพุ่งชาร์จ เราก็วิ่งหนี
ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้าง 200 ชุด เสริมเขี้ยวเล็บด้วย "โดรน Thermal" เป็นอีกหนึ่งความหวัง ในระหว่างทางที่กรมอุทยานฯ เตรียมสร้างคูกันช้างดาดคอนกรีต เพิ่มแหล่งน้ำ-อาหาร ตรึงช้างอยู่ป่า ลดความขัดแย้งคน-ช้างป่า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศึกขัดแย้ง “คน-ช้างป่า” 12 ปียังไม่จบ ระยะทางอีกยาวไกล
ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน"
1 ปี "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" ไปไม่ถึงฝัน ติดขั้นตอนอนุญาตนำเข้า
ยกเลิกภารกิจ "จับพลายซัน" แกะรอยข้ามคืน ช้างป่าเตลิด-ปลอกคอ GPS ไม่เสถียร