"วันสงกรานต์ 2567" หรือ "วันมหาสงกรานต์" เริ่มตั้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี โดยคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต ว่า "สํ-กรานต" แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึง "วันขึ้นปีใหม่" วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น "วันเนา" วันที่ 15 เป็น "วันเถลิงศก"
ในอดีต ถือ "วันสงกรานต์" เป็น "วันขึ้นปีใหม่ไทย" ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกัน และเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือน เมษายน
วันสงกรานต์
อ่าน : "ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" มรดกโลกวัฒนธรรม
"มโหธรเทวี" นางสงกรานต์ปี 67 และคำทำนาย
ในปี 2567 วันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย ตรงกับวันเสาร์ ที่ 13 เมษายน นางสงกรานต์ นามว่า "นางมโหธรเทวี" ทัดดอกสามหาว ทรงพาหุรัด อาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา
ภาพจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
สำหรับในปี 2567 นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้มีประกาศสงกรานต์ไว้ดังนี้
- ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช 1386 ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน
- วันที่ 13 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เวลา 22.24 น.
- นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี
- วันที่ 16 เม.ย. เวลา 02.15 น. เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1386
- ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย, วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี, วันจันทร์ เป็น อุบาทว์, วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ
- ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว
- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง
- เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
อ่าน : วธ.ตั้ง "แอนโทเนีย" เป็น "นางมโหธรเทวี" นางสงกรานต์ปี 67
ตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 นาง
หลายคนอาจยังไม่รู้จัก "นางสงกรานต์" และอาจยังไม่รู้ว่า "นางสงกรานต์" มีที่มาอย่างไร แล้วแต่ละปีจะใช้มีการเลือกนางสงกรานต์อย่างไร กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนางสงกรานต์
"นางสงกรานต์" เป็นคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน "ตำนานสงกรานต์" ซึ่งเป็นโบราณอุบายให้คนสมัยก่อนได้รู้ว่า "วันมหาสงกรานต์" อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ ที่สมัยก่อนถือเป็นวันปีใหม่นั้น ตรงกับวันเวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้ง 7 เทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ เพื่อให้จดจำได้ง่าย
เรื่องเกี่ยวกับนางสงกรานต์นี้ พระยาอนุมานราชธนู (นามปากกา-เสฐียรโกเศศ) นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ได้เคยเขียนวิจารณ์ในบางแง่บางมุมไว้ส่วนหนึ่ง ดังนี้
แม้นางสงกรานต์บางนางจะมีชื่อเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ภาพวาดแต่ละนางก็มักมีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น และหน้าตาสวยงามตามลักษณะนางฟ้าไม่ได้วาดรูปเป็นนางยักษ์อย่างชื่อ
นอกจากนี้สัตว์พาหนะ คือ ครุฑ พยัคฆ์ วราหะ คัสพะ กุญชร มหิงสะ และนกยูง ท่านก็ตั้งข้อสงสัยว่าล้วนเรียกเป็นคำศัพท์เกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะให้ฟังดูขลัง อย่าง หมูหรือสุกร ก็เรียกเป็น วราหะ ลา ก็เรียกว่า คัสพะ แต่ก็แปลกที่ไม่เรียก นกยูงว่า มยูร และสัตว์ทั้งหมดยกเว้น ครุฑ แล้ว ต่างก็เป็นสัตว์ธรรมดาในเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น
และการทรงพาหนะมาของนางสงกรานต์นั้น ในแต่ละปีไม่ได้ขี่มาอย่างธรรมดาเสมอไป บางปีก็ยืนมา บางปีก็นอนลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้ ท่านว่าเป็นความฉลาดของคนโบราณที่จะทำให้คนไม่รู้หนังสือมองรูปปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่า วันมหาสงกรานต์หรือช่วงที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นวันปีใหม่ เริ่มเวลาใดโดยดูจากท่าของนางสงกรานต์นั่นเอง
ภาพจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ตำนานสงกรานต์ ตามความเชื่อของคนไทย ส่วนใหญ่จะอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ โดยเล่าเรื่องราวของ "ท้าวกบิลพรหม" เป็น เทพชั้นพรหม ได้แพ้พนันการทายปัญหาแก่ "ธรรมบาลกุมาร" ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา 3 ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำมนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง
จนต้องตัดเศียรตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เนื่องจากพระเศียรของของท้าวกบิลพรหมตกไปอยู่ที่ใดจะเป็นอันตรายต่อที่นั้น หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ โยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง ทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง
ดังนั้น ธิดาทั้ง 7 นางจึงต้อง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญ "เศียรท้าวกบิลพรหม" เวียนประทักษิณรอบ "เขาพระสุเมรุ" เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี โดยธิดาทั้ง 7 นางมีชื่อต่างกัน แต่รวมเรียกว่า "นางสงกรานต์"
ประวัติวันสงกรานต์ตามความเชื่อของคนไทย ส่วนใหญ่จะอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทำให้เกิดตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้น ๆ
1. นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ คือ "นางสงกรานต์ทุงษะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
2. นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ คือ "นางสงกรานต์โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร คือ "นางสงกรานต์รากษสเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)
4. นางสงกรานต์ประจำวันพุธ คือ "นางสงกรานต์มณฑาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
5. นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี คือ "นางสงกรานต์กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ คือ "นางสงกรานต์กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)
7. นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ คือ "นางสงกรานต์มโหธรเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
ทั้งนี้ นางสงกรานต์แต่ละปีจะเป็นนางใดในสัปดาห์ นอกจากจะดูวันมหาสงกรานต์แล้ว "ช่วงเวลา" ที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษในวันมหาสงกรานต์ก็จะเป็นตัวกำหนดอิริยาบถ และตัวบ่งชี้ว่านางสงกรานต์ปีนั้นจะเป็นผู้ใดด้วย อิริยาบถของนางสงกรานต์จะมีด้วยกัน 4 ท่า และหมายถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้
- หากยืนมาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง
- หากนั่งมาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ
- หากนอนลืมตามาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ช่วงค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน
- หากนอนหลับตามาบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ เที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า
ตามตำนานมมีความเชื่อว่าหากในปีใด นางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และหากปีใดนางสงกรานต์ยืนมาจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ หากนางสงกรานต์นั่งมาจะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ
ตำนานวันสงกรานต์ที่กล่าวมามีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษในช่วงวันสงกรานต์ ตามคติทางโหราศาสตร์ จึงเป็นที่มาว่าทำไมแต่ละปีจึงมี "นางสงกรานต์" ที่มีชื่อแตกต่างกัน
วันสงกรานต์
กิจกรรมในวันสงกรานต์ 2567
คนไทยนิยมเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระวันสงกรานต์ ในวันสงกรานต์ ใครที่ไกลครอบครัว ทำงานต่างจังหวัด ก็จะถือโอกาสนี้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทยกับครอบคัว นอกจากนี้ยังกล่าวคำอวยพร "สุขสันต์วันสงกรานต์" ให้แก่กัน
สำหรับกิจกรรมที่ควรทำเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในวันสงกรานต์ มีดังต่อไปนี้
- ทำบุญตักบาตร เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
- สรงน้ำพระ ตามความเชื่อโบราณ การสรงน้ำพระเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเคารพและสักการะต่อ พระพุทธศาสนา เป็นการเริ่มต้นสิ่งที่เป็นมงคลในวันปีใหม่ โดยน้ำที่ใช้สรงนั้นจะเป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำที่ถูกผสมจากน้ำอบก็ได้
- การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หากทำกันเองในบ้าน ลูกหลานให้ญาติผู้ใหญ่ มานั่งในที่ที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบ มีดอกไม้ผสมน้ำมารดให้ผู้ใหญ่ ในระหว่างที่รดน้ำท่านก็ให้พรแก่ลูกหลาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว
วันสงกรานต์
- ขนทรายเข้าวัด ภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด
- การปล่อยนกปล่อยปลา เชื่อว่าเป็นการปล่อยสิ่งที่ไม่ดีออกไปให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรศึกษาการปล่อยสัตว์ให้ถูกสถานที่และถูกวิธีด้วย
ทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งในช่วงวันปีใหม่ไทยที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากันและทำกิจกรรมร่วมกัน
ประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 4 ภูมิภาค
วันสงกรานต์ ในแต่ละจะมีรูปแบบ พิธีกรรม ความเชื่อ และการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป
สงกรานต์เหนือ
ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ เรียกว่า "ปเวณีปีใหม่" หรือ "ปาเวณีปีใหม่" อ่านว่า "ป๋า-เว-นี-ปี๋-ใหม่" จัดขึ้นอย่างน้อย 3-5 วัน เรียกวันที่ 13 เมษายนว่า วันสังกรานต์ล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี
วันสังกรานต์ล่อง ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ตอนเช้ามืดจะมีปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์ สวมใส่เสื้อผ้าสีแดงล่องแพไปตามลำน้ำนำสิ่งชั่วร้ายมาด้วย ดังนั้นชาวบ้านจะจุดปะทัดเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป อีกทั้งยังนำพระพุทธรูปมาชำระและสรงน้ำอบโดยใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย และทำความสะอาดบ้านเรือน
วันที่ 14 เมษายน คือ วันเนา หรือ วันเน่า ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ห้ามผู้ใดทะเลาะเบาะแว้งกัน พิธีกรรมของวันเนานี้จะตระเตรียมสิ่งของและอาหารเพื่อนำไปทำบุญในวันพญาวัน ช่วงบ่ายจะขนทรายเข้าวัดและตัดกระดาษเป็นธงสีต่าง ๆ เรียกว่า "ตุง" สำหรับปักที่เจดีย์ทราย
วันที่ 15 เมษายน คือ วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำทานขันข้าว อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
วันสงกรานต์
สงกรานต์อีสาน
ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน เรียกว่า "บุญสงกรานต์" หรือ "บุญเดือนห้า" หรือ "สังขานต์"
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "มื้อสงกรานต์ล่อง" หรือ "มื้อสงกรานต์พ่าย"
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "มื้อเนา" ชาวบ้านจะแต่งกายสวยงาม นำอาหารไปตักบาตรที่วัด ขอพรจากพระภิกษุผู้ใหญ่ และสรงน้ำพระพุทธรูป มีการจัดทำบายศรีสู่ขวัญผู้ใหญ่ ช่วงกลางคืนมีการร่วมกันสวดมนต์เย็นและฟังธรรม
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "มื้อสงกรานต์ขึ้น" นิยมฉลองสงกรานต์ต่อเนื่อง 7 - 15 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์คนที่ไปทำงานยังต่างถิ่นจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเป็นการรวมญาติและทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า "สักอนิจจา"
วันสงกรานต์
สงกรานต์ภาคกลาง
สงกรานต์ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก มักมีการสรงน้ำพระพุทธรูป ทำบุญ รดน้ำผู้ใหญ่เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที เข้าวัดฟังธรรม ประเพณีสงกรานต์ในเขตภาคกลางที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญยังมีในหลายพื้นที่ อาทิ ประเพณีสงกรานต์มอญ มีการจัดที่ บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
สงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด เป็นรูปแบบที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา เป็นหนึ่งในงานเทศกาลมหาสงกรานต์ 4 ภาคของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่และสวยงามตระการตา
วันสงกรานต์
สงกรานต์ภาคใต้
ประเพณีขึ้นปีใหม่ของภาคใต้เรียกว่า "วันว่าง" หมายถึง ว่างเว้นจากการทำงานทุกชนิด อีกทั้งยังมีความเชื่อต่าง ๆ เช่น การห้ามตัดผม ห้ามตัดเล็บ ห้ามฆ่าสัตว์ เป็นต้น โดยปกติจะจัดขึ้น 3 วัน คือ วันที่ 13 - 15 เมษายน เป็นโอกาสที่จะแสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ โดยการจัดหาผ้าใหม่ การอาบน้ำ สระหัว และขอพรจากผู้ใหญ่
วันที่ 13 เมษายน คือ วันส่งเจ้าเมืองเก่า มีการทำความสะอาดบ้านเรือน และพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์
วันที่ 14 เมษายน คือ วันว่าง มาจากความเชื่อว่า ในวันนี้ยังไม่มีเทวดารักษาเมือง ชาวบ้านจึงหยุดการทำงานและไปทำบุญตักบาตร นำอาหารไปทำบุญถวายเพลที่วัด
วันที่ 15 เมษายน คือ วันรับเจ้าเมืองใหม่ บางท้องถิ่นเรียกว่า วันเบญจา หรือบิญจา เป็นวันรับเทวดาองค์ใหม่มาดูแลรักษาบ้านเมือง มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับใหม่ บางบ้านมีการจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
วันสงกรานต์
"ประเพณีสงกรานต์" เป็นกิจกรรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก คือ การเล่นสาดน้ำคลายร้อน ถือเป็นเทศกาลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้วประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ก็มีประเพณีที่คล้ายคลึงกัน
ยกตัวอย่างที่ "ลาว" พิธีกรรมคล้ายปีใหม่เมืองทางภาคเหนือของไทย คือ "วันสังขารล่วง" เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา "วันเนา" วันครอบครัว ญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ใหญ่ "วันสังขารขึ้น" หรือวันปีใหม่ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร คือ นางสงกรานต์ของลาว
วันสงกรานต์
"ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" มรดกโลกวัฒนธรรม
ทุกปี "วันสงกรานต์" จะมีการจัดกิจกรรมสาดน้ำ มีการจัดประกวดนางสงกรานต์ เพื่อเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์ ซึ่งในปีมีรัฐประกาศ "มหาสงกรานต์ World Songkran Festival" ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย.2567 รวม 21 วัน เพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนให้ "สงกรานต์ในไทย" เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66)
ทั้งนี้ "สงกรานต์ในประเทศไทย" ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ "โขน" ในปี 2561, "นวดไทย" ในปี 2562 และ "โนรา" ของภาคใต้ ในปี 2564
วันสงกรานต์
Maha Songkran World Water Festival
สำหรับกิจกรรม Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในช่วง เม.ย.นี้ โดยมีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง (กทม.) และส่วนภูมิภาค ดังนี้
- งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 10 เม.ย.นี้
- นิทรรศการ สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ 10-12 เม.ย.นี้ เวลา 10.00- 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้งหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC)
- งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ระหว่าง 12-16 เม.ย.นี้ และกิจกรรมการแสดงสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในงานใต้ร่มพระบารมีกรุงรัตนโกสินทร์
- ในวันที่ 13 เม.ย.นี้ ณ เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
อ้างอิงข้อมูล : หอสมุดแห่งชาติ, กรมศิลปากร, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
อ่านข่าวอื่น ๆ
ไขคำตอบ! "ข้าวสาร" เก็บได้นานแค่ไหน ?
ไทยรั้ง อันดับ 2 กลุ่ม C หลังบุกเสมอ "เกาหลีใต้" ยังมีลุ้นเข้ารอบ 3 คัดบอลโลก