แม้หลายประเทศในเอเชียจะดูเหมือนยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ประเด็นเรื่องสิทธิยังถือว่าด้อยกว่าหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในยุโรป
เนเธอร์แลนด์ รับรองให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.2001 รวมทั้งยังอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับอุปการะบุตรได้ ก่อนที่แต่ละประเทศทั่วโลกจะเริ่มทยอยผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม
หากนับคร่าวๆ ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งหมด 37 ประเทศและดินแดน แบ่งเป็นในยุโรป 21 ประเทศ ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากที่สุด ตามมาด้วยอเมริกา 11 ประเทศ เอเชียมีเพียง 2 ที่คือ ไต้หวันกับเนปาล ส่วนโอเชียเนียมี 2 ประเทศคือ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ขณะที่หนึ่งเดียวในแอฟริกาคือ แอฟริกาใต้
แต่ในจำนวนนี้ยังมีข้อถกเถียงถึงสถานะของบางประเทศอย่าง เม็กซิโก ซึ่งไม่ได้รับรองเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่ เนปาล แม้จะมีคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย เป็นคู่แรกของประเทศ เมื่อปลายปี 2023 ตามคำสั่งชั่วคราวของศาล แต่ขณะนี้รัฐสภาเนปาลก็ยังไม่ได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ผู้สนับสนุน LGBTQ แขวนธงบนเสาไฟด้านนอกรัฐสภากรีก แสดงความยินดีหลังสภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2024
ส่วนที่กรีซ สภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา สร้างความยินดีให้กับกลุ่มสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไปรวมตัวกันด้านหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ ที่ต่างปรบมือและโห่ร้องแสดงความยินดี
กรีซ กลายเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ ชาติแรกของโลกที่รับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน หลังกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรณรงค์และผลักดันในประเด็นนี้มานานหลายสิบปี ท่ามกลางเสียงต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายศาสนา
แต่หากแยกดูตามภูมิภาค จะพบว่า ยุโรปผลักดันประเด็นสมรสเท่าเทียมสำเร็จเป็นภูมิภาคแรก โดยเนเธอร์แลนด์เป็นที่แรกของโลก ตามด้วยแคนาดา ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของทวีปอเมริกาที่รับรองให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายในปี 2005 ขณะที่แอฟริกาใต้เป็นที่แรกและที่เดียวของภูมิภาคแอฟริกา ส่วนที่แรกในลาตินอเมริกาอยู่ที่อาร์เจนตินาในปี 2010 และที่แรกของเอเชียคือไต้หวัน เมื่อปี 2019
ผู้คนเข้าร่วมขบวนพาเหรด LGBTQ Pride Parade ประจำปีของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2023
ส่วนมุมมองในอาเซียน เมื่อปลายปี 2023 ศูนย์วิจัยพิวในสหรัฐฯ เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอาเซียนที่มีต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม และพบว่า ชาวเวียดนามสนับสนุนมากถึง 65% หลังจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มรณรงค์ในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทางการเวียดนามเตรียมพิจารณาปรับแก้กฎหมายสมรสและครอบครัวในปี 2024 หรือไม่ก็ปีหน้า
ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในไทยและกัมพูชาเกินครึ่ง สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมเช่นกัน สวนทางกับสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ 2 ประเทศหลัง ชาวมาเลเซียคัดค้านกฎหมาย 8 ใน 10 คน และอินโดนีเซียมากกว่า 9 ใน 10 คน ซึ่งมุมมองของคนใน 2 ประเทศนี้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับจุดยืนแข็งกร้าวของรัฐบาล
ส่วนในฟิลิปปินส์ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและการแสดงออกถึงตัวตนในพื้นที่สาธารณะก็สามารถทำได้อย่างเปิดเผย แต่ประเทศนี้ ซึ่งประมาณ 80% ของประชากรเป็นชาวคาทอลิก ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยม โดยการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน การทำแท้ง ไปจนถึงการหย่าร้าง ยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม
ขณะที่ความพยายามหลายสิบปีในการผลักดันกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติในขณะนี้ก็ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งความสำเร็จของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นผลมาจากความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค แต่หนทางในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง