วันที่ 30 มีนาคม ทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันไบโพลาร์โลก" หรือ World bipolar day นั้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับ "โรคไบโพลาร์"
มาทำความเข้าใจ "โรคไบโพลาร์" ให้มากขึ้น อาการเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร ใครมีโอกาสเป็นบาง และหากเป็นแล้วรักษาได้หรือไม่ วันนี้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว
รู้จัก "โรคอารมณ์สองขั้ว" หรือ "ไบโพลาร์"
"โรคไบโพลาร์" หรือ "โรคอารมณ์สองขั้ว" (Bipolar disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่าง 2 อารมณ์
"อารมณ์ซึมเศร้า" สลับกับช่วงที่ "อารมณ์ดี คึกคักกว่าปกติ"
อากาศเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตของคนที่ป่วย และอาการในแต่ละช่วงอาจอยู่เป็นสัปดาห์ หรือ หลายเดือน โดย "ไบโพลาร์" ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูงถึง 70 - 90% และมักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น เช่น ภาวะเครียด หรือ วิตกกังวล นอกจากนี้พบว่า การเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วง "อายุ 15-19 ปี" รองลงมา คือ "อายุ 20-24 ปี"
ทำความเข้าใจ โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)
สาเหตุการเกิด "โรคไบโพลาร์"
มีสาเหตุ รวมถึงปัจจัย หลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ "สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ"
- ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย การนอนหลับที่ผิดปกติ ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
- ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ภายในชีวิตได้ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ขึ้นมาได้เช่นกัน
***ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้
- ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ จากการศึกษาพบว่า สามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยไบโพลาร์ แต่ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่า ไบโพลาร์เป็นโรคทางพันธุกรรม
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เคยอธิบายว่า "โดยมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 18, 21, 22 ซึ่งเด็กที่เกิดจาก พ่อหรือแม่ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคได้สูงกว่าคนทั่วไป"
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะไม่รู้ตัวเองในช่วงที่เป็น ลักษณะอาการเป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงเวลาที่เป็น Manic Episode (ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ)
- ร่าเริงผิดปกติ
- ไม่หลับไม่นอน
- พูดมาก พูดเร็ว
- ใครขัดใจจะหงุดหงิด
- เชื่อมั่นในตัวเองสูง
- ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
- มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น
ช่วงเวลาที่เป็น Depressive Episode (ภาวะซึมเศร้า)
- เศร้า หดหู่
- ไม่อยากพบใคร
- ไม่อยากทำอะไร
- คิดช้า ไม่มีสมาธิ
- คิดลบ คิดว่าตัวเองไร้ค่า
- คิดอยากฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กลุ่มอาการซึมเศร้ามักเกิดขึ้นบ่อยกว่ากลุ่มอาการแมเนียเกือบ 3 เท่า ขณะที่คนที่ป่วยมักมีอาการเป็นรอบ รอบละประมาณ 3-4 เดือน โดยที่บางรอบอาจจะเป็นแมเนีย และบางรอบอาจมีอาการซึมเศร้า โดยในแต่ละรอบ อาการอาจคืนสู่ภาวะปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่จะใช้เวลานานกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยแพทย์
เหวี่ยงวีน "ไม่ใช่" ไบโพลาร์
ไบโพลาร์เป็นอาการทางการแพทย์ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่ตัวตนของผู้ป่วย สามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาทางการแพทย์ การยอมรับจากครอบครัว เพื่อน และตัวของผู้ป่วยเอง
อย่าเอาคำว่า ไบโพลาร์ มาแซวกันเพราะจะทำให้คนที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยไม่กล้าไปรักษา เพราะกลัวถูกตีตราว่านิสัยไม่ดี ซึ่งอาจเป็นการทำร้ายผู้ป่วยทางอ้อม
สำหรับการวินิจฉัย ผู้วินิจฉัยว่าเป็นไบโพลาร์หรือไม่คือ "จิตแพทย์" เช่นเดียวกับอาการซึมเศร้า ที่การทำแบบประเมินตนเองอาจไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง
การตรวจหลัก คือ การพูดคุย โดยข้อมูลในการวินิจฉัย คือ การซักประวัติ เพื่อดูความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ การใช้ยาและสารเสพติดต่าง ๆ หรือโรคประจำตัว ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากผู้ที่เป็นและญาติ ร่วมไปกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาวินิจฉัยร่วมกัน
เช็กอาการ เดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวเศร้า อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์
การรักษา ไบโพลาร์ ด้วยยา- การบำบัด
การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันการรักษาสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ ผู้ป่วยยังสามารถปรึกษาแพทย์แลพปรับยาตามความเหมาะสม นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การรักษาโดยใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในการควบคุมของแพทย์ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง
การรักษาด้วยการบำบัด
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลับพักผ่อนที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์การทำจิตบำบัดเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง ทำกิจกรรมบำบัดอื่น ๆ เช่น ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด โยคะ
โรคนี้เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การสังเกตอาการจากผู้ใกล้ชิดจึงเป็นวิธีการที่จะทำให้รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้ดีที่สุด จะได้รีบเข้าสู่การรักษา
ไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นได้ก็หายได้ ถ้ารักษาถูกวิธี
รู้หรือไม่ ? โรคไบโพลาร์ กับ โรคซึมเศร้า ต่างกันนะ
ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า เป็นกลุ่มโรคทางอารมณ์หรือเรียกว่าโรคทางจิตเวชเหมือนกัน (mood disorder) แต่มีความแตกต่างกัน คือ โรคซึมเศร้ามีอาการในภาวะเดียว คือ ภาวะเศร้า แต่ผู้ป่วยที่เป็นไบโพลาร์ อาจจะมีอาการในทั้ง ภาวะเศร้า และ/หรือ ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ เพราะอาการไบโพล่าบางประเภท อาจไม่ได้มีภาวะขั้วเศร้า ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียง ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติอย่างเดียวก็ได้
ความแตกต่างระหว่าง โรคไบโพลาร์ กับ โรคซึมเศร้า
อ้างอิงข้อมูล : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเปาโล, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
อ่านข่าวอื่น ๆ
อาลัย "เจ้าแมวป่า" สราวุธ ประทีปากรชัย อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทย