ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปัญหาภัยแล้งกระทบหนัก นาข้าวเสียหายกว่า 2 ล้านไร่

สังคม
9 ก.ค. 58
05:12
412
Logo Thai PBS
ปัญหาภัยแล้งกระทบหนัก นาข้าวเสียหายกว่า 2 ล้านไร่

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสำรวจพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ เชื่อนาข้าวที่ปลูกไปแล้ว 4,000,000 ไร่ เสี่ยงที่จะเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่ง

วันนี้ (9 ก.ค.2558) รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ระบุว่า ขณะนี้นาข้าวที่ปลูกตั้งแต่เดือน พ.ค. เริ่มเข้าสู่ระยะตั้งท้อง จึงมีความต้องการใช้น้ำมาก ทำให้อาจเกิดการแย่งน้ำในหลายพื้นที่ และส่งผลให้พื้นที่นาปลายน้ำและนาดอนร่วม 2,000,000 ไร่ มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย เนื่องจากปริมาณน้ำในปัจจุบันไม่เพียงพอ

ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนากลุ่มที่อยู่ปลายน้ำ เพื่อให้หยุดปลูกข้าวพร้อมทั้งบริหารน้ำให้ชาวนาต้นคลองอย่างเหมาะสม เพื่อให้เหลือน้ำจืดส่งเข้าระบบประปา เพราะหากไม่มีน้ำมาไล่น้ำเค็ม จะเสียหายทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและด้านการแพทย์

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน(จิสด้า) ระบุว่า หลังจากการติดตามสภาพอากาศจากดาวเทียม พบว่า มีฝนตกหลายพื้นที่ทำให้มีน้ำเข้าเขื่อนเพิ่ม และฝนจะตกต่อเนื่องในอีก 2-3 วัน หลังจากนั้นจะทิ้งช่วงอีก 10 วัน และจะกลับมาตกอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเต็มรูปแบบ เป็นระยะเวลาราว 100 วันเท่านั้น และเป็นไปได้ที่จะมีดีเปรสชันเข้าไทยถึง 2 ลูก

ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะร่วมกับจิสด้าเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อผลักดันมาตรการช่วยเหลือ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในสัปดาห์หน้า

ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ขณะนี้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพียงเขื่อนเดียวคือ เขื่อนสิริกิติ์ เพียงวันละ 3,400,000 ลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำที่ใช้ได้ 17,000,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนอีก 3 เขื่อนไม่มีน้ำไหลเข้า ดังนั้นจำเป็นต้องทบทวนแผนการระบายและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง