รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของ โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนี เริ่มผลักดันแผนการที่จะทำให้การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตั้งแต่โชลซ์ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ เมื่อปลายปี 2021 และในที่สุดรัฐบาลชุดนี้ก็ผลักดันแผนดังกล่าวสำเร็จ ชาวเยอรมันกว่า 1,500 คน รวมตัวกันใจกลางกรุงเบอร์ลิน เพื่อร่วมนับถอยหลังเข้าสู่วันที่ 1 เม.ย. ซึ่งถือเป็นวันแรกที่กฎหมายอนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเริ่มมีผลบังคับใช้
โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนี
"เยอรมนี" นับเป็นประเทศที่ 9 ของโลก ที่ไฟเขียวกฎหมายในลักษณะนี้ ขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย อนุญาตให้มีการใช้กัญชาได้ในบางพื้นที่ของประเทศเท่านั้น
รัฐบาลเยอรมนี ชี้ว่า การผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว จะช่วยป้องกันไม่ให้คนเสพหันไปหาซื้อกัญชาจากตลาดมืด ซึ่งอาจปนเปื้อนสารชนิดอื่นๆ ที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตราย แม้ว่าจะมีเสียงท้วงติงจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่มองว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้การเข้าถึงกัญชาทำได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ภาพลักษณ์ของกัญชาจะเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น หากใครสักคนจะเสพกัญชา ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
ระเบียบใหม่ของเยอรมนีจะแบ่งการบังคับใช้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. นั่นคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถครอบครองกัญชาแห้งได้สูงสุด 25 กรัม ซึ่งจะเอามาม้วนสูบได้ประมาณ 80 มวน รวมทั้งยังสามารถปลูกที่บ้านได้สูงสุด 3 ต้น และยังเก็บกัญชาที่บ้านได้อีก 50 กรัม
แต่กฎหมายฉบับนี้จะห้ามสูบกัญชาใกล้กับโรงเรียน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนอนุบาล สนามเด็กเล่น ไปจนถึงสนามกีฬาสาธารณะในระยะรัศมี 100 เมตร โดยถือเป็นหนึ่งในมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนจากกัญชา นอกจากนี้ยังห้ามสูบกัญชาบริเวณทางเดินเท้าสาธารณะ ระหว่างเวลา 07.00 - 20.00 น.ด้วย
ขณะที่ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป เยอรมนีจะอนุญาตให้มีการจัดตั้งชมรมหรือสมาคมกัญชาได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะเปิดรับสมาชิกได้สูงสุด 500 คน และ 1 คน สามารถเป็นสมาชิกได้แค่ 1 สมาคมเท่านั้น โดยแต่ละคนสามารถซื้อกัญชาจากกลุ่มที่ตัวเองเป็นสมาชิกได้สูงสุด 50 กรัมต่อเดือน
ดังนั้นการหากัญชามาใช้เพื่อสันทนาการในเยอรมนีแบบถูกกฎหมาย จะทำได้แค่ 2 ทาง นั่นคือ ปลูกเองที่บ้าน หรือไปซื้อจากกลุ่มที่ตัวเองเป็นสมาชิก ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ จำกัดให้เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับใหม่จูงใจชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาเสพกัญชาในเยอรมนี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เปิดไฟเขียวกัญชาเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวขาจร
ห้องปลูกกัญชาในเยอรมนี
แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะพยายามอุดช่องโหว่ที่นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนอาจจะยังประเมินไม่ได้ในตอนนี้ อย่างมาตรการปกป้องเยาวชนจากกัญชา ซึ่งรัฐบาล ระบุว่า จะรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและสนับสนุนโครงการป้องกันเยาวชนใช้กัญชา แต่แผนการและงบประมาณก็ยังไม่ชัดเจน
หรือกรณีตลาดมืด "อุรุกวัย" ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า การทำให้กัญชาถูกกฎหมายไม่ได้หมายความว่าคนจะไม่ซื้อกัญชาจากตลาดมืด ซึ่งกรณีนี้เป็นเพราะการซื้อจากตลาดมืดเร็วกว่า ง่ายกว่าและไม่ขาดตลาดด้วย
อุรุกวัยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุญาตให้มีการปลูก แจกจ่ายและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2013 ตามมาด้วยแคนาดาในปี 2018 และเม็กซิโกในอีก 3 ปีถัดมา หลังจากศาลสูงสุดให้ไฟเขียว
ขณะที่หลายประเทศในยุโรปค่อนข้างผ่อนคลายกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา แต่จะมีความเสรีต่างกันออกไป โดยมอลตาเป็นประเทศแรกในยุโรป ที่รัฐสภารับรองให้การปลูกและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการถูกกฎหมายในปี 2021 ตามมาด้วยลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีระเบียบคล้ายๆ กัน
ส่วนแอฟริกาใต้เป็นชาติแรกในแอฟริกา ขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชีย แต่สถานะนี้อาจจะกำลังเปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลเพื่อไทยมีแผนห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการภายในสิ้นปีนี้
สำหรับเยอรมนีที่ถือเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใหญ่ที่สุดที่ผ่านกฎหมายกัญชาเพื่อสันทนาการ ต้องรอดูว่าผลการเลือกตั้งทั่วประเทศในปีหน้าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะหัวหน้าฝ่ายค้านเยอรมนีประกาศเอาไว้แล้วว่า จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้า
อ่านข่าวเพิ่ม : อนุทิน-สมศักดิ์ ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ ดันเขียน กม.รับรอง