หลังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล มีมติเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นเวลา 30 วัน เพื่อเปิดการท่องเที่ยวแก่งสะพือ
“แก่งสะพือ” เป็นภาษาส่วย แปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม เมื่อลำน้ำมูลแห้งขอดในช่วงหน้าแล้ง แก่งหินที่จมอยู่ใต้น้ำ จะโผล่ให้เห็นแก่งหินน้อยใหญ่ กระจายขวางลำน้ำมูล เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม
สำหรับแก่งสะพือถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แลนมาร์คของ จ.อุบลราชธานี ในอดีต แต่หลังการสร้างเขื่อนปากมูล ทำให้แก่งหินจมอยู่ใต้น้ำและถูกกำหนดด้วยการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล มานานกว่า 30 ปี
จัดการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว “แก่งสะพือ”
ความพยายามผลักดันให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเปิดการท่องเที่ยวแก่งสะพือ เป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน และหน่วยงานใน อ.พิบูลมังสาหาร ที่เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล
ให้พิจารณาเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 30 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และทดลองดำเนินการในปี 2566 โดยเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยว
ทำให้ในปีนี้ จ.อุบลราชธานี เตรียมจัดงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ อย่างเต็มรูปแบบ และกำหนดเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.-17 เม.ย.
ฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว เที่ยว “แก่งสะพือ” หน้าแล้ง
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะที่กลับมา ของนักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำแก่งสะพือ ส่งผลให้ร้านอาหาร และร้านขายของฝากริมแก่งสะพือ เริ่มยิ้มได้ เพราะแก่งหินที่โผล่พ้นน้ำ เป็นสัญญาณของการท่องเที่ยวแก่งสะพือที่หลายคนรอคอย
ศุภกฤษ ช่อฟ้า นักท่องเที่ยวบอกว่า เคยเดินทางมาเล่นน้ำที่แก่งสะพือช่วงวัยเด็ก หลังจากนั้นกว่า 10 ปี ก็ไม่เคยเห็นแก่งหินบริเวณแก่งสะพือโผล่พ้นน้ำอีกเลย จนกระทั่ง จ.อุบลราชธานี เตรียมปลุกกระแสการท่องเที่ยวแก่งสะพือในปีนี้ มองว่าเป็นสิ่งที่ดี
เพราะเสน่ห์ของแก่งสะพือนอกจากทัศนียภาพที่สวยงานแล้ว ยังเป็นสถานที่เล่นน้ำคลายร้อนในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรวมตัวของคนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวใช้เป็นจุดเช็คอินและทำคอนเทนต์ลงโซเซียลมีเดีย ซึ่งก็จะเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกทางหนึ่ง
"สนุก-ความสุข" ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ
การปลุกกระแสการท่องเที่ยวแก่งสะพือ ที่แลกกับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาล ที่ถูกระบายลงแม่น้ำโขง ผ่านประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ในช่วงเวลา 30 วัน มีตัวเลขจากชลประทานคาดว่า มากกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ดูจะสวนทางกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น
ด้าน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ระบุว่า การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเปิดการท่องเที่ยวแก่สะพือ ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ที่ ต้องควบคุมระบบการปล่อยน้ำในเขื่อนตอนบนลำน้ำมูลและชี ให้สัมพันธ์กับการระบายน้ำจากเขื่อนปากมูล
เพื่อรักษาระดับน้ำที่แก่งสะพือ ให้เพียงพอกับกิจกรรมและเปิดการท่องเที่ยว โดยไม่ให้กระทบกับการสูบน้ำผลิตประปา โดยจะยึดเกณฑ์ระดับน้ำที่ M 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 106.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งการปรับลดระดับน้ำเพื่อการท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงน้ำต้นทุนในพื้นที่ต้นน้ำมูลและชีเป็นสำคัญ
การจะพิจารณาเปิดการท่องเที่ยวแก่งสะพือในแต่ละปีจะต้องใช้พิจารณาจากปริมาณต้นทุน ในพื้นที่ต้นน้ำมูลและชี จึงยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะสามารถเปิดการท่องเที่ยวแก่งสะพือได้ทุกปีหรือไม่
รายงาน : พจนีย์ ใสกระจ่าง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : ผุดศูนย์จับลิงลพบุรีตั้งเป้า 800 ตัว ยันไม่ย้ายไป "เขาใหญ่"
"จุรินทร์" ซักฟอกเดือดนายกฯ เซลล์แมน-รัฐบาลอีเวนต์
ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก12 ปี ลูกสาวอาม่าฮวย ลักทรัพย์บุพการี 24 ล้าน