ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Peace Broker" ยุติสงครามเมียนมา ไทยต้องเชื่อมนโยบายสามขา

การเมือง
10 เม.ย. 67
17:03
145
Logo Thai PBS
"Peace Broker" ยุติสงครามเมียนมา ไทยต้องเชื่อมนโยบายสามขา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ตอบตรง ๆ ผมว่ารัฐบาลไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ เคลื่อนตัวตามสถานการณ์โลก และสถานการณ์ในภูมิภาคไม่ทัน ผมว่าเราช้าไปนิดนึง ไม่ว่าจะโดยคิดช้าหรือปฏิบัติช้า”

เป็นคำอธิบายของศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคง กับ “สุทธิชัย หยุ่น”ในรายการคุยนอกกรอบ โดยวิเคราะห์เรื่องนโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน

ประเดิมที่นโยบายต่างประเทศของไทยในรัฐบาลของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กับรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" โดย ศ.สุรชาติ บอกว่า หลังรัฐประหารเมียนมาในปี 2564 จนถึงการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลชุดดังกล่าว ได้เห็นภาพความสัมพันธ์ใกล้ชิด และความชัดเจนของไทยมากขึ้น เมื่ออา เซียนออกมติ 5 ข้อ ทำให้ทุกคนมีความหวังว่า ไทยจะเป็นตัวขับเคลื่อนยุติความขัดแย้งอย่างสันติ แต่กลายเป็นว่าไทยฉีกตัวออกมา ซึ่งเรียกสภาวะแบบนี้ว่า "เรากำลังกลายเป็นเด็กเกเรในอาเซียน" ส่งผลไม่ดีต่อไทย

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ทุกคนต่างมีความหวัง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์สงครามหนักขึ้น "ปฏิบัติการ 1027 หรือ 27 ตุลา 2566" เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าสงคราม การเมืองในเมียนมาจริง ๆ โดยเฉพาะหลังปีใหม่ 2567 ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อ 30 กว่าเมืองต้องสูญเสียเมืองให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้นคิดว่ารัฐบาลต้องคิดและวางแผนมากขึ้นเนื่องด้วยเป็นเหตุการณ์ติดกับประเทศไทย ที่ยังไม่รวมในอีกหลายประเทศที่เริ่มมีการสู้รบกันเป็นครั้งแรกที่เริ่มรู้สึกว่า กลัวสงคราม

…เมื่อถามว่า รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ไม่ค่อยพูดถึงนโยบายต่างประเทศ และเมื่อลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกเศรษฐาฯบอก ไม่พูดถึงปัญหา พูดเรื่องโอกาสเท่านั้น ถ้าวิธีคิดนี้นำมาใช้ในเรื่องเมียนมา จะเป็นไปได้ไหม…

ศ.สุรชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องยาก เพราะสถานการณ์จริงคือ ปัญหาไม่ใช่โอกาส ผนวกกับเสียงของคนภาคใต้ที่ยังมองไม่เห็นความชัดเจนทิศทางของรัฐบาล ฉะนั้นปัญหาเมียนมา ก็คงไม่ต่างกัน แม้ว่าวันนี้จะมีหน่วยงานตามแนวชายแดน แต่ทุกคนก็ยังรู้สึกว่า คนที่อยู่ตามแนวชายแดนรู้ดีว่า หน่วยงานไทย ทำงานสเปะสะปะ ไม่มีนโยบายกลางที่เป็นเอกภาพ พอเป็นแบบนี้ หน่วยงานปฏิบัติก็ทำตาม อย่าง นโยบายต่างประเทศของไทย ปัจจุบันกำลังทำตามอำเภอใจ ทำให้หลายหน่วยงานมีปัญหา

ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะต้องเป็นหน่วยงานที่ประสานความมั่นคง แต่หลังจากรัฐประหาร ปี 2549 และ ปี 2557 สภาความมั่นคงถูกทำลายสภาพภายในไปหมด กลายเป็นโครงสร้างทหารเข้าไปยึด สิ่งสำคัญคือทหารที่เข้ามา ไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่มาจากการจัดสรรตำแหน่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่ไม่ลงตัว ด้วยตัวสภาความมั่นคงก็มีปัญหาภายในอยู่แล้ว พอมาเจอสภาวะหลังรัฐประหาร กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถมีบทบาทนำ ไม่รู้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

เคยเสนอว่า นอกจากพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ เรื่องที่ใหญ่กว่าปฏิรูปกองทัพ คือการปฏิรูประบบความมั่นคงของประเทศไทย

"Peace Broker" โอกาสไทยยุติสงครามในเมียนมา

ศ. สุรชาติ ยืนยันว่า ไทยมีศักยภาพและโอกาสที่จะเป็น "Peace Broker" เพื่อยุติสงครามเมียนมา เนื่องด้วยมีชายแดนติดกันยาวถึง 2,400 กิโลเมตร โดยเฉพาะในขณะนี้ประชากรเมียนมาอพยพเข้ามาหลายหมื่นคน และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้ามาอาศัยในคอนโดใน กทม. ดังนั้นรัฐบาลจะต้องวางแผนและต้องคิด

…เมื่อถามว่า ทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาล SAC ทั้งมีคนมองว่าทหารใกล้ชิดกับทางทหารมากขึ้น บทบาททำให้ยากต่อการทำงานในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หากเป็นยุคนี้น่าจะมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ ทำไมไม่ฉวยโอกาสนี้…

ศ.สุรชาติ ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่คิดไว้เหมือนกัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าปัญหานี้เป็นเหมือนพันธะที่ไม่จบ "ทั้งพันธะทางใจ - พันธะในการปฏิบัติ" อีกทั้งสิ่งที่เราเห็นเรียกว่า "พลวัตรสงคราม" มีพลวัตรการเมืองคู่ขนาน จึงเรียกปรากฎการณ์สงครามการเมืองในเมียนมารอบนี้ว่า "ปรากฎการณ์สามก๊ก" คือ SAC , NUG (รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย) และ EAO (กองกำลังติดอาวุธ)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเชื่อมนโยบายสามขา หรือ สามกลุ่มนี้ให้ได้ จะทำให้ไทยสามารถเปิดบทบาท "Peace Broker" และจะต้องไม่คุยกับแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้เกิดความหวาดระแวงจากชนกลุ่มน้อย

"กองทัพ – กต."ความมั่นคงคู่ขนาน

โจทย์นี้ถือเป็นบทบาทกระทรวงต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงคิดอย่างเดียว ต้องทำให้เห็นความมั่นคงคู่ขนานไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การไปยืนถ่ายรูปเพื่อออกสื่อเท่านั้น

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ในโลกสมัยใหม่เขาไม่เอาทหารมาทำสงคราม เขาเอาทหารมาเป็นคนช่วยจัดการ แต่จะใช้หน่วยงานพลเรือนที่ดูเป็นกลาง เพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งฝ่ายผู้รับ และประเทศที่เป็นปัญหา ผู้รับและตัวรัฐบาลที่เป็นปัญหาก็จะไม่หวาดระแวง แต่พอเราเอาทหารเข้าไปเกี่ยว ก็จะเกิดปัญหาและคำถามตามมา

วันนี้หากรัฐบาลตัดสินใจว่าเรื่องเมียนมาเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลไทยอยากแสดงบทบาท ศ.สุรชาติ มองว่า “จะต้องคิดใหม่ทำใหม่” ถ้าไม่คิดใหม่ทำใหม่กับปัญหาเมียนมา จะไม่สามารถเริ่มได้ เนื่องด้วยมีแบบแผนที่ใช้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติผูกมัดตามข้อตกลงที่ไทยมีกับ SAC บางอย่าง

จนบัดนี้ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตกลงอะไรกับ SAC ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง

...เมื่อถามว่ากองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีสายเชื่อมตรงต่อกับสามฝ่ายนี้หรือไหม..

ศ.สุรชาติ มองว่า มีแบบกระท่อนกระแท่น เนื่องด้วย NUG มีความน้อยใจ เพราะรู้สึกว่า รัฐบาลไทยไม่ให้ความสำคัญ มีท่าทีไม่ค่อยอยากคุย ส่วนฝ่าย EAO กำลังมีปัญหาในตัวเนื่องจากหลากหลายกลุ่มมาก ไม่รู้ว่าจะคุยกับใครจะคุยกับกลุ่มไหนได้ รวมถึงความใกล้ชิดกับกะเหรี่ยง KNU ที่ได้มีการทำแผนเสนอ แต่ไทยไม่เอา กลับไปจับมือ BJF ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงอีกกลุ่มที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารคือ SAC เดิม แต่ปัญหาก็คือ BJF มีประวัติเดิมที่เป็นปัญหา ภาพที่เห็นในตอนนี้มองว่าฝ่ายต่อต้านเริ่มได้เปรียบมากขึ้น

การเจรจาในบทบาท "Peace Broker" จะยากขึ้นพี่น้องชนกลุ่มน้อยเริ่มชนะมากขึ้น เขาเริ่มไม่รู้สึกอยากคุย เขาอยากรบ เพราะวันนี้ฮึกเหิม ก็เหมือนกับหลักสงครามธรรมดา ในสนามรบใครมีอำนาจต่อรองสูงกว่า จะไม่อยากเจรจา ฝ่ายที่เสียเปรียบอยู่อาจจะอยากเจรจา

หลังสงกรานต์จะเกิดสงครามใหญ่ บนเงื่อนไข อากาศที่ไม่ใช่ฤดูฝน เนื่องด้วยอุปสรรคใหญ่ของสงครามในภูมิภาค คือ ฤดูฝน กับมรสุม กองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกเจอศึกใหญ่ที่สุดของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามเมียนมา คือ มรสุม เฉกเช่นเดียวกับสงครามกัมพูชา 

และเป็นที่รับทราบกันว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เงื่อนไขสงครามที่ดีที่สุดคือการรบในฤดูแล้ง แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ชี้ขาดสงครามหรือไม่ แต่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ใหญ่ที่สุด

… หากภาพแบบนี้เห็นว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เริ่มได้เปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางกองทัพของ “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” จะยอมลดเงื่อนไขหรือไม่…

"ไม่ลด" ศ.สุรชาติ กล่าวและเปรียบให้เห็นภาพเหมือนกับปัญหาสงครามในยูเครน แม้ว่ารัสเซียจะเสียกำลังพลไปกว่า 3 แสนคน รวมถึงยุทโธปกรณ์ต่างๆ แต่รัสเซียก็ยังไม่ยอมหยุด เพราะยังมีกำลังอาวุธที่รบได้ต่อ เฉกเช่นกองทัพเมียนมาแต่เดิมใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค แม้ว่าในขณะจะตกมาอยู่อันดับที่ 4 แต่ในส่วนของยุทโธปกรณ์ จำนวนคน ยังรบต่อได้

สิ่งสำคัญก่อนที่ประเทศไทยจะเป็น "Peace Broker" จะต้องคุยกับสหรัฐอเมริกา, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย และออสเตรเลีย เนื่องจากประเทศไทยยังถือฉันทามติ 5 ข้อ ที่ต้องทำตามรวมทั้งต้องไม่ทิ้งบทบาทลาวในฐานะประธาน

ศ.สุรชาติ บอกว่า หากย้อนกลับไปในอดีต หลายกรณีที่เป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ประเทศไทยมีบทบาทไปเป็นคนกลางเจรจาได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ "มาเลเซีย ทะเลาะกับ อินโดนีเซีย"

"วันนี้ผมรู้สึกว่ามรดกความสำเร็จทางการทูตของไทย มันหายไปจากความทรงจำ แล้วก็กลายเป็นการทูตที่เกาะสายเดียว เกาะกระแสเดียว เราคิดไม่เป็น" นักวิชาการด้านความมั่นคงทิ้งท้าย

รายการคุยนอกกรอบ โดย สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง